ทลายแหล่งผลิตยาหยอดเห็บหมัดเถื่อน

2024-04-23 10:26:28

ทลายแหล่งผลิตยาหยอดเห็บหมัดเถื่อน

Advertisement

บก.ปคบ. ร่วม อย. ทลายแหล่งผลิตยาหยอดเห็บหมัดเถื่อนยึดของกลางกว่า 40,450 ชิ้น มูลค่า 5 แสน

เมื่อวันที่ 22 เม.ย.67 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย   กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  (อย.)   ร่วมปฏิบัติการจับกุมกวาดล้างโรงงานผลิตยารักษาเห็บหมัดเถื่อนในพื้นที่ เขตลาดกระบัง  กทม. ตรวจยึดของกลางกว่า 40,450 ชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 5 แสนบาท คดีนี้สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจาก อย.ให้ทำการตรวจสอบสถานที่ผลิตยาสำหรับหยดกำจัดเห็บหมัดสำหรับสุนัขและแมวโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งหากนำมาใช้ อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการรักษา ให้มีอายุขัยเฉลี่ยน้อยลงกว่าวัยอันควร เกิดภาวะช็อก หมดสติ หรืออาจเสียชีวิต อีกทั้งแม้ยาดังกล่าวไม่มีผลโดยตรงกับมนุษย์แต่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง หรือแพ้ได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนหาข่าวจนทราบถึงกลุ่มเครือข่ายผู้ผลิต สถานที่จัดเก็บ และพบว่ามีการลักลอบผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสัตว์ปลอมโดยไม่ได้รับอนุญาต ในพื้นที่แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง  กทม.   


ต่อมาเมื่อวันที่ 18  เม.ย.67 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่จาก อย. นำหมายค้นเข้าตรวจค้นสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 จุด ได้แก่  สถานที่จัดเก็บสินค้าบ้านพักในพื้นที่ แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กทม.  ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัข ยี่ห้อฟีติก (ปลอม) จำนวน 300 ขวด  สถานที่ผลิต และจำหน่าย บ้านพักในพื้นที่ แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง  กทม. ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัขและแมวยี่ห้อต่าง ๆ, วัตถุดิบที่ใช้ผลิต รวมทั้งฉลาก บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ดังนี้

1. ผลิตภัณฑ์ สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัข ยี่ห้อฟีติก (ปลอม) จำนวน 805 ขวด

2. ผลิตภัณฑ์ สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดแมว ยี่ห้อ Front 3- 1 ฉลากสีฟ้า จำนวน 295 ขวด

3. ผลิตภัณฑ์ สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัข ยี่ห้อ Front 3- 1 ฉลากสีเขียวอ่อน จำนวน 34 ขวด

4. ผลิตภัณฑ์ สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัข ยี่ห้อ Front 3- 1 ฉลากสีส้ม จำนวน 48 ขวด

5. ผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัข ยี่ห้อ Detick จำนวน 35 ขวด

6. ผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัข ยี่ห้อ Alprocide จำนวน 48 ขวด

7. ยารับประทานกำจัดเห็บหมัดสำหรับสุนัข ยี่ห้อ En-Dex 8000 ฉลากระบุ ตัวยาสำคัญ Ivermectin (ยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ) จำนวน 360 กล่อง

8. ผลิตภัณฑ์กำจัดปลวก ยี่ห้อ เอธีนา 25 (ฟิโพรนิล 25%) จำนวน 14 ขวด

9. ผลิตภัณฑ์กำจัดปลวก ยี่ห้อ เอธีนา 25 (ฟิโพรนิล 25%) ผสมแอลกอฮอล์ จำนวน 2 ขวด

10. สติ๊กเกอร์ยี่ห้อฟีติก, ซีอุส, Front 3 in 1 และ Detick จำนวน 11,900 ชิ้น

11. กล่องบรรจุภัณฑ์ จำนวน 3,085 ชิ้น

12. ฝาครอบชุดยาเห็บหมัด จำนวน 14,650 ชิ้น

13. แอลกอฮอล์ จำนวน 1 แกลอน

14. ไซริ้ง จำนวน 90 ชิ้น

15. จุกใน จำนวน 2,500 ชิ้น

16. ฝาอลูมิเนียม จำนวน 10,000 ชิ้น

17. จุกยาสีเทา จำนวน 10,000 ชิ้น

18. ขวดแก้วใส 1,000 ชิ้น

รวมตรวจค้น 2 จุด ตรวจยึดวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ปลอม จำนวน 1,105 ขวด, วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายสาธารณสุข (วอส.) จำนวน 460 ขวด, ยารับประทานกำจัดเห็บหมัดสำหรับสุนัข ยี่ห้อ En-Dex 8000 (ยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ) จำนวน 360 กล่อง, ผลิตภัณฑ์กำจัดปลวกที่ใช้เป็นส่วนผสม, ฉลาก บรรจุภัณฑ์ ฝาอลูมิเนียม และขวดบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ผลิต จำนวน 38,825 ชิ้น รวมทั้งสิ้น 40,450 ชิ้น

จากการสืบสวนทราบว่าผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัขยี่ห้อฟิติกที่ถูกปลอมนั้น ได้รับอนุญาตให้ผลิตและจัดจำหน่ายจาก อย. โดยมี บริษัท เคมแฟค จำกัด เป็นผู้ผลิต ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู ต.บางปูใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ แต่กลุ่มเครือข่ายดังกล่าว ได้ฉวยโอกาสปลอมโดยซื้อส่วนประกอบบางชนิด มาบรรจุเอง และแพ็คลงในบรรจุภัณฑ์ ภายในบ้านพักย่าน แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง ให้มีลักษณะเหมือนกับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจาก อย.

นอกจากนี้ ยังมีการลักลอบผลิต ผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัขและแมว ยี่ห้ออื่น ๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาต โดยนำผลิตภัณฑ์กำจัดปลวกมาผสมกับแอลกอฮอล์ จากนั้นกรอกใส่ภาชนะ โดยใช้แรงงานคน โดยไม่มีการชั่งตวงวัดปริมาณ ส่วนประกอบอย่างมีมาตรฐาน ในสถานที่ผลิตที่ไม่สะอาดและไม่ถูกสุขลักษณะ ส่งขายราคาขวดละ 50 - 70 บาท ผ่านชอปปี้ ลาซาด้า และตามร้านเพ็ทช็อปทั่วประเทศ มียอดขายประมาณเดือนละ 4,000 - 5,000 ชิ้น โดยทำมาแล้วประมาณ 3 ปี

อนึ่ง ผลิตภัณฑ์ยาและวัตถุอันตรายที่ตรวจยึด เจ้าหน้าที่ อย. ส่งตรวจวิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันผลตรวจวิเคราะห์อีกครั้งเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม

1. พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510

- กรณียารับประทานเพื่อกำจัดเห็บหมัดผู้จำหน่ายจะมีความผิดฐาน “ขายยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ “ขายยาไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท

2. พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

- ฐาน “ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- ฐาน “ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ปลอม” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 700,000 บาท

- ฐาน “ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ขึ้นทะเบียน” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท

- ฐาน “ขายวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง โดยเป็นการกระทำของผู้ผลิต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท

ภก. วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวน ขยายผล สืบหาแหล่งผลิตวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาตและผลิตวัตถุอันตรายปลอม, แหล่งขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต จนสามารถตรวจยึดของกลางเป็นจำนวนมาก ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดปลอม และผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดไม่มีเลขทะเบียนอาจไม่มีสารสำคัญ หรือมีปริมาณสารสำคัญต่ำกว่าหรือสูงกว่าปริมาณที่กำหนด โดยหากมีปริมาณต่ำกว่าที่กำหนด จะไม่มีประสิทธิภาพในการกำจัดเห็บหมัด และหากมีปริมาณสูงกว่าที่กำหนดอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง จึงขอเตือนผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงให้ระมัดระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัด โดยควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดที่มีเลขทะเบียนและการแสดงฉลากถูกต้อง เลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ สังเกตสัตว์เลี้ยงหลังใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ หากใช้แล้วไม่ได้ผล ให้หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้วนำสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ หากสัตว์เลี้ยงมีอาการเจ็บป่วย ควรพาไปรับการรักษาจากสัตวแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกสำหรับสัตว์ หากเจ็บป่วยเล็กน้อยควรซื้อยาจากร้านขายยาที่มีใบอนุญาต หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยสามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th, Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ผู้ผลิตและขายยาจะต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง เพื่อเป็นหลักประกันเบื้องต้นว่ายาที่ผลิตมาสู่ท้องตลาดมีมาตรฐาน และรักษาโรคได้จริง นอกจากยาที่ใช้ในมนุษย์แล้ว ยาที่ใช้สำหรับสัตว์ต้องขออนุญาตผลิตให้ถูกต้อง เพราะหากผลิตโดยกระบวนการที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์เลี้ยงเมื่อเรานำยามาใช้ อาจเกิดการระคายเคืองหรือบาดเจ็บแล้ว สัตว์ไม่สามารถบอกให้ผู้เลี้ยงทราบได้ บก.ปคบ. จะดำเนินกวดขันจับกุมผู้ผลิตและขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ยาปลอม รวมถึงกวาดล้างผู้ที่ผลิตและขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ถึงที่สุด โดยประชาชนทั่วไป หากพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค