"นครินทร์ ยึดหลัก 4 ประการวินิจฉัยคำร้อง

2024-04-10 11:59:00

"นครินทร์ ยึดหลัก 4 ประการวินิจฉัยคำร้อง

Advertisement

"นครินทร์ ยึดหลัก 4 ประการวินิจฉัยคำร้อง ปลื้ม 26 ปีศาล รธน. มีคำร้องเข้าสู่การวินิจฉัย 1,881 คำร้อง  นำไปสู่การแก้ไข ก.ม.ที่ละเมิดสิทธิประชาชน ขัดต่อนิติธรรม 76 ฉบับ ยืนยันมุ่งมั่นพิทักษ์รัฐธรรมนูญ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน  ดำรงหลักนิติธรรมของประเทศ  รักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เมื่อวันที่ 10 เม.ย.67 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น ศาลรัฐธรรมนูญจัดประชุมทางวิชาการประจำปี เนื่องในโอกาส 26 ปีแห่งการสถาปนาศาลรัฐธรรมนูญ ในหัวข้อ "ศาลรัฐธรรมนูญกับการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ" โดยนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวเปิดการประชุมทางวิชาการประจำปี ตอนหนึ่ง ว่า ตลอด 26ปีที่มีการสถาปนาศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ทำหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ด้วยการปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ดำรงหลักนิติธรรมของประเทศ รักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นไปตามหลักนิติธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและแม้รัฐธรรมนูญจะมิได้กำหนดเงื่อนไขไว้ แต่การตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัตินั้น จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข 4 ประการ คือ 1.กฎหมายนั้นจะต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม เช่น หลักการตรากฎหมายที่จะต้องไม่มีผลย้อนหลังเพื่อลงโทษทางอาญาต่อบุคคล ซึ่งเป็นไปตามหลักนิติธรรมที่ว่าไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย อาทิ กรณีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กรณีการออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่เป็นการออกคำสั่ง เรียกให้มารายงานตัวก่อน แล้วออกประกาศกำหนดโทษของการกระทำดังกล่าว หรือ กรณี พ ร.บ ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ที่มีกำหนดข้อสันนิษฐานไว้ ตั้งแต่เริ่มแรกว่า ถ้าบุคคลใดกระทำความผิด ให้กรรมการผู้จัดการของบริษัทหรือ นิติบุคคลนั้นทุกคนต้องร่วมรับผิดไปด้วย โดยยังไม่ได้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงใด ซึ่งขัดต่อหลักนิติธรรมและขัดต่อ ที่รัฐธรรมนูญ จากการทำหน้าที่ดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติทำการยกเลิกและแก้ไขกฎหมายที่มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันทั้งหมดของประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 76 ฉบับ


นายนครินร์ กล่าวต่อว่า 2. กฎหมายต้องไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล เกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งหลักการนี้เป็นหลักการใหม่ที่มีการนำมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 อันเป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญอีกประการหนึ่งของศาลรัฐธรรมนูญนำมาใช้ประกอบการวินิจฉัยในคดีรัฐธรรมนูญ 3.การตรากฎหมายนั้นจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ ซึ่งคำว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่ในตัวบุคคลทุกคน หรือติดตัวอยู่กับทุกคนตั้งแต่เกิด ไม่อาจลบล้างได้ และ 4.การตรากฎหมายต้องมีการระบุเหตุผลความจำเป็นการในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ โดยกฎหมายนั้นจะต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง

"นับแต่มีการก่อตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญขึ้นเมื่อปี 41 จนถึงปัจจุบัน ได้มีคำร้องเข้าสู่ การพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 1,881คำร้อง โดยศาลมีคำวินิจฉัย จำนวน 812 คำวินิจฉัย และคำสั่ง จำนวน 1,047 คำสั่ง ซึ่งมีคดีร้องทุกข์ ทางรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่ที่ได้มีขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญปี 50จนถึงปัจจุบัน จำนวน 586 คำร้อง โดยศาลมีคำวินิจฉัย จำนวน 6 คำวินิจฉัย และคำสั่ง จำนวน 570คำสั่ง ศาลรัฐธรรมนูญยังคงยืนหยัดรักษาความชอบธรรม ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รักษาความเป็น กฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งพยายามที่จะสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญทางรัฐธรรมนูญเพื่อให้ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการ หรือตรากฎหมายที่มุ่งไปในทางคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพให้กับประชาชนต่อไป " นายนครินทร์ กล่าว

ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวอีกว่า เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไป ศาลรัฐธรรมนูญพยายามปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง ของโลกยุคดิจิทัล โดยได้พัฒนากระบวนการยุติธรรมที่อำนวยความสะดวก ให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงศาลรัฐธรรมนูญได้โดยง่าย ผ่านช่องทางเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ เช่น ยื่นคำร้องผ่านทางระบบงานคดีรัฐธรรมนูญ อิเล็กทรอนิกส์ ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ และ ในทุกประเภทคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม และไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งสามารถติดตามความคืบหน้าของคดีหรือผลคำวินิจฉัยหรือคำสั่งเกี่ยวกับคำร้อง ที่ได้ยื่นผ่านทางระบบงานคดีรัฐธรรมนูญอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นดังปณิธานของ ศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า ยึดหลักนิติธรรม ค้ำจุนประชาธิปไตย ห่วงใยสิทธิและเสรีภาพ ของประชาชน