กกต.เก็บข้อมูลคอร์สทำความรู้จักฮั้วสมัคร ส.ว.

2024-04-05 17:51:46

กกต.เก็บข้อมูลคอร์สทำความรู้จักฮั้วสมัคร ส.ว.

Advertisement

รองเลขาธิการ กกต.เผยเก็บข้อมูลคอร์สทำความรู้จักฮั้วสมัคร ส.ว.แล้ว ปัดนิ่งเฉยละเลย พร้อมประสาน 26 หน่วยงานตรวจสอบ 

เมื่อวันที่ 5 เม.ย.67 ที่รัฐสภา นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวในการสัมมนา "บทบาทหน้าที่ อำนาจ และการได้มาซึ่งวุฒิสภาชุดใหม่ 2567" ที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา จัดขึ้น ตอนหนึ่งถึงกรณีที่มีการกระแสข่าวการจัดตั้ง หรือจัดอบรมสัมมนา เรียกเก็บเงินเพื่อทำความรู้จักกันเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับสมัคร ส.ว.แบบผู้สมัครเลือกกันเอง เพื่อให้การเลือกตั้ง ส.ว. .แบบเลือกกันเอง ยืนยันว่า กกต.มีการเก็บข้อมูล และมีเครือข่ายพื้นที่แล้ว ดังนั้นใครจะไปดำเนินการที่อำเภอไหน ตำบลใด สำนักงาน กกต.ในจังหวัด มีข้อมูลทั้งหมด เพื่อเตรียมนำไปประกอบการพิจารณาหากมีเหตุร้องเรียน ซึ่งกกต.ไม่ได้นิ่งเฉย หรือละเลย เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และสร้างความเท่าเทียมแก่ผู้สมัครทุกคน


รองเลขาธิการ กกต.กล่าวด้วยว่า สำนักงาน กกต.ได้เตรียมความพร้อมในการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกวุฒิสภา เนื่องจากสว.ปัจจุบันจะหมดวาระในวันที่ 11 พ.ค.นี้ ให้ ครม.พิจารณาแล้ว ซึ่งหลังมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ว.แล้ว กกต.จะกำหนดวัน กำหนดการต่าง ๆ รวมถึงวันเลือกระดับอำเภอ และจังหวัด รวมถึงในเร็ว ๆ นี้ จะมีการออกประกาศ ขยายความกลุ่มอาชีพ ส.ว. ว่าครอบคลุมตำแหน่งใดบ้าง อาจไม่ครอบคลุมทั้งหมด แต่หากผู้สมัครยืนยัน และมีพยานรับรองความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้นได้ อย่างไรก็ตามยืนยันว่า ผู้สมัครทุกคน จะต้องมีกลุ่มลงสมัครแน่นอน อย่างน้อยก็จะเป็นกลุ่มอื่น ๆ ที่จะรองรับนอกเหนือจาก 19 กลุ่มอาชีพ หรือแม้จะมีความรู้ความเชี่ยวชาญใน 19 กลุ่ม แต่จะลงสมัครในกลุ่มอื่น ๆก็ได้

ส่วนการตรวจสอบผู้สมัคร สว.เพื่อป้องกันในกรณีที่เป็นบุพการี-บุตรนอกสมรสกันนั้น นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า สำนักงาน กกต.มีหน่วยงานต่าง ๆ ช่วยในการตรวจสอบกลั่นกรอง 26 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม ทั้งฐานข้อมูลพรรคการเมือง ตำแหน่งต่าง ๆ ซึ่ง กกต.มีเวลา 5 วัน ตรวจสอบหลังการรับสมัครเลือกตั้ง และสำนักงาน กกต.ทุกจังหวัด สามารถตรวจสอบได้ในบางเรื่องบางประการที่ กกต.มีข้อมูล แม้ตรวจไม่พบ แต่ผ่านการเลือกตั้ง มาระดับอำเภอ และจังหวัดมาแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นโมฆะ หรือเจอในชั้นใด ก็ลบชื่อในชั้นนั้นได้ และผู้สมัคร สามารถร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้

รองเลขาธิการ กกต.ยังกล่าวถึงการรับสมัคร ที่ผู้สมัครต้องมีผู้รับรองความเชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้น ๆ ว่า ผู้รับรองผู้สมัคร จะต้องระมัดระวังด้วย เพราะหากรับรองเป็นเท็จ ก็อาจจะมีโทษด้วย ซึ่งการแนะนำตัวผู้สมัครในกลุ่มนั้น จะต้องรอระเบียบจาก กกต.ที่จะออกประกาศ แต่ขอให้งดเว้นการหาเสียงก่อน แต่สามารถเปิดเผยแนะนำตัวตนตนเองได้ ส่วนกรณีการตรวจสอบสถานะการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐนั้น กกต.ยึดหลักตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่หากเข้าองค์ประกอบใด ก็ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ผู้สมัครก็สามารถสอบถามไปยังหน่วยงานต้นสังกัดได้ก่อนว่า ตนเองมีสถานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นหรือไม่ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่า ตนเองพยายามตรวจสอบตัวเองมาแล้วในชั้นต้น กกต.เชื่อว่า การรับสมัคร ส.ว. ครั้งนี้ จะมีผู้สมัครรวมทั้งประเทศจำนวนมาก แต่เมื่อเข้าสู่ระดับจังหวัดแล้ว เชื่อว่า จะเหลือจังหวัดละประมาณ 500 คน หากรวมทั้งประเทศแล้ อาจจะมีจำนวนรวมมาก แต่มั่นใจว่า กกต.จะสามารถบริหารจัดการได้ ส่วนขั้นตอนการประกาศผลการเลือกตั้ง อาจจะไม่รวดเร็ว เพราะจะต้องคำนึงถึงข้อร้องเรียน ภายหลังจากที่จังหวัดได้ส่งผลคะแนนมายัง กกต.ด้วย 

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน สว.ในฐานะกมธ.พัฒนาการเมืองฯ กล่าวว่า มั่นใจว่า ส.ว. ชุดใหม่ จะเป็นชุดแรกในประวัติศาสตร์โลก ที่มีการเลือกตั้งทางอ้อม และยังคงมีบทบาทสำคัญว่าจะมีส่วนร่วมแก้ไข หรือไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ชี้ขาดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ เพราะ สว.ยังมีบทบาทร่วมลงมติ 1 ใน 3 หรือ 67 เสียงจาก 200 เสียงด้วย และอาจจะเป็นเรื่องแรกที่วุฒิสภาชุดใหม่ จะต้องพิจารณา ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับ ส.ว. ชุดใหม่ว่า จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ประสบความสำเร็จหรือไม่

นายคำนูณ ยังกล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ว่า เป็นร่างกฎหมายงบประมาณประวัติศาสตร์ ที่เป็นการตั้งงบประมาณแบบขาดดุลมากที่สุด แต่วุฒิสภาไม่มีอำนาจแก้ไข และจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จในวาระเดียวเท่านั้น จึงถือเป็นหน้าที่ของ ส.ว.ชุดใหม่ ที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบด้วย