วุฒิสภาเห็นชอบร่าง ก.ม.สมรสเท่าเทียม

2024-04-02 16:31:34

วุฒิสภาเห็นชอบร่าง ก.ม.สมรสเท่าเทียม

Advertisement

วุฒิสภาเห็นชอบร่าง ก.ม.สมรสเท่าเทียมวาระแรก  147 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง  งดออกเสียง 7  เสียง  ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาต่อ 

เมื่อวันที่ 2 เม.ย.67  ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา โดย พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ...​หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระแรก ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 136 กำหนดให้วุฒิสภาต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วันนับตั้งแต่ที่รับจากสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา

โดยก่อนการพิจารณา ตัวแทนของ ส.ว. ได้รายงานของคณะกรรมการที่ศึกษาไว้ล่วงหน้าจากกรรมาธิการคณะต่างๆ เช่น กรรมาธิการการกฎหมาย, กรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน อาทิ นายปัญญา งานเลิศ ส.ว.  ในฐานะประธานกรรมการศึกษาเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งได้ศึกษาไว้ล่วงหน้า แถลงรายละเอียดว่า ในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมการปกครอง รวมถึงกำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียด ซึ่งกำหนดกรอบระยะไว้ ทั้งนี้ในรายละเอียดจำเป็นต้องแก้ไขพ.ร.บ.ครอบครัว ที่ต้องใช้เวลา และเสนอต่อสภาฯ หากขยายเวลาได้จะมีความรอบคอบมากขึ้น

นายปัญญา กล่าวด้วยว่าการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว อาจกระทบต่อผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์และอิสลามที่ยึดปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนา ดังนั้นควรกำหนดหลักเกณฑ์และระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ต้องรับหน้าที่จดทะเบียนสมรสบุคคลเพศเดียวกัน ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามหลักศาสนาและชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่ไม่รับจดทะเบียนเพศเดียวกันถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ขณะที่ น.ส.ปิยฉัฏฐ์ วันเฉลิม ในฐ ส.ว. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภา กล่าวว่า ในรายละเอียดพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับ กฎหมายอื่นๆ อีก 47 ฉบับ ดังนั้นหากร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมกำหนดให้แก้ไขโดยอัตโนมัติ อาจทำให้ไม่ครบคลุม ไม่สอดคล้องกับเจตนารมของกฎหมายอื่นๆ เช่น ในพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรา 102 กำหนดให้ผู้มีตำแหน่งต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน รวมถึงของคู่สมรส ที่ตามกฎหมายป.ป.ช. หมายถึงผู้อยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยา สถานะครอบครัว ขณะเดียวกันการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมีระยะเวลาใช้บังคับกฎหมายไว้ 180 วัน กรรมาธิการมองว่าหากทอดเวลาอีกระยะจะทำการพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ละเอียดรอบคอบ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการอภิปรายของ ส.ว.  นั้น เห็นด้วยในหลักการ และมีข้อเสนอให้ กรรมาธิการพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม เช่น การเยียวยาผู้เสียสิทธิที่จะมี การคุ้มครองบุคคลที่ยึดถือตามหลักศาสนา รวมถึงคำนึงถึงค่านิยม สังคมยอมรับได้ เพื่อให้ร่างกฎหมายมีความยั่งยืน นอกจากนั้นมีข้อเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหา เช่น ปรับอายุของบุคคลที่จะสมรส จาก 18 ปี เป็น 20 ปี เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการอภิปรายของ ส.ว.  ยังแสดงความกังวลต่อการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องภายใน 180 วัน ในร่างมาตรา 68 ที่กำหนดให้หน่วยงานทบทวนร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ภายใน 180 วัน ซึ่งกังวลว่าอาจจะเป็นระเบิดเวลาและทำให้มีปัญหาเพราะไม่ใช่เกี่ยวกับชายและหญิงเท่านั้นแต่หมายถึงการสมรส นอกจากนั้นในสิทธิรับบุตรบุญธรรม ที่ต้องคำนึงถึงวุฒิภาวะ ไม่ใช่บุคคลเพศเดียวกันที่สมรสกันในอายุ 18 ปีแล้วมีสิทธิรับบุตรบุญธรรมได้ รวมถึงการอุ้มบุญที่ควรพิจารณาให้รอบคอบ

หลังจากที่ ส.ว. อภิปรายแล้วเสร็จ ได้ลงมติในวาระแรก ผลปรากฎว่า เห็นด้วย 147 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง จากนั้นได้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา ซึ่งประกอบด้วยสัดส่วนของ ส.ว.  ครม. และ ภาคประชาชน ทั้งนี้มีรายงานว่าการพิจารณาวาระ 2 ของ วุฒิสภานั้น จะเกิดขึ้นในการประชุมสมัยหน้า ในเดือน ก.ค.นี้