"สันติ" รณรงค์ตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่

2024-03-14 14:50:53

"สันติ" รณรงค์ตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่

Advertisement

"สันติ"ติดเข็มกลัด "ส.ส.-ส.ว." รณรงค์ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ คร่าชีวิตคนไทยปีละกว่า 5,000 คน ห่วงแนวโน้มป่วยพุ่งเหตุนิยมกินเนื้อแดง ปิ้ง ย่าง

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 67 ที่รัฐสภา นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข มอบเข็มกลัดสัญลักษณ์ริบบิ้นสีน้ำเงินเข้ม เพื่อรณรงค์ต้านภัยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง แด่ นายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)     โดยมี นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ ว่าที่ ร.ต.ท.หญิงนภา ศิริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ร่วมมอบเข็มกลัดสัญลักษณ์ของการรณรงค์ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง โดยการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระด้วยวิธี Fecal Immunochemical Test ทั้งนี้ประชาชนอายุ 50-70 ปี สามารถรับอุปกรณ์และน้ำยาเก็บตัวอย่างได้ที่สถานพยาบาล เพื่อนำไปเก็บอุจจาระด้วยตนเองที่บ้าน แล้วนำส่งเจ้าหน้าที่เพื่อทำการวิเคราะห์ผล กรณีที่ได้รับผลผิดปกติผู้ป่วยจะได้รับการตรวจวินิจฉัยต่อด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพิ่มเติม


นายสันติ กล่าวว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง เป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบมากในคนไทย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 16,000 คนต่อปี เป็นเพศชาย 8,658 คน และหญิง 7,281 คน มีผู้เสียชีวิต 5,332 คนต่อปี สาหตุสำคัญคือการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารกลุ่มเนื้อแดง ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อหมูที่ผ่านการแปรรูป หรือปรุงด้วยความร้อนสูงเป็นเวลานาน เช่น การปิ้งย่างจนไหม้เกรียม และมีมันสูง รับประทานอาหารกากใยน้อย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ อย่างไรก็ตามหากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะช่วยให้การรักษาได้ผลดี โอกาสรักษาหายขาดสูง ดังนั้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย จึงจัดกิจกรรมเนื่องในเดือนมีนาคมนี้เป็นเดือนรณรงค์ต้านภัยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง โดยใช้เข็มกลัดริบบิ้นสีน้ำเงินเข้ม เป็นสัญลักษณ์ในการรณรงค์ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของป้องกันและคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง จากการดำเนินมาตรการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนไทยมีความรอบรู้และตระหนักถึงความสำคัญของโรคนี้มากขึ้น ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขยังคงมุ่งมั่นแก้ปัญหาโรคมะเร็งเพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตของประชาชน จึงมีนโยบายมะเร็งครบวงจรครอบคลุมการส่งเสริม การป้องกัน การคัดกรอง การวินิจฉัยและรักษา การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง รวมถึงการจัดตั้งกองทุนมะเร็ง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ตลอดจนการจัดตั้งทีมมะเร็งเชิงรุก Cancer Warrior เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีมาตรฐานอย่างครบวงจร