ญี่ปุ่นวิจัยพบ "แผ่นดินเหลว" จากแผ่นดินไหวโนโตะสูงกว่าแผ่นดินไหวปี 1995

2024-03-12 13:25:31

ญี่ปุ่นวิจัยพบ "แผ่นดินเหลว" จากแผ่นดินไหวโนโตะสูงกว่าแผ่นดินไหวปี 1995

Advertisement

โตเกียว, 11 มี.ค. (ซินหัว) — คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์โลกและการรับมือภัยพิบัติแห่งชาติญี่ปุ่น เปิดเผยว่าเหตุแผ่นดินไหวหลายครั้งทางตอนกลางของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 1 ม.ค. ซึ่งมีความรุนแรงสูงถึง 7.6 ตามมาตราแมกนิจูด ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์แผ่นดินเหลว (liquefaction) ในหลายพื้นที่มากกว่าเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ฮันชินเมื่อปี 1995

รายงานระบุว่าทีมงานสถาบันฯ แบ่งพื้นที่ออกเป็นบล็อกสี่เหลี่ยม ขนาด 250 ตารางเมตร และนับจุดที่เกิดละอองน้ำและการพวยพ่นของทรายอันมีต้นตอจากปรากฏการณ์แผ่นดินเหลวในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ นำสู่การค้นพบพื้นที่อย่างน้อย 1,724 จุด ในจังหวัดอิชิกาวะ โทยามะ นีงาตะ และฟุกุอิ กำลังเผชิญปรากฏการณ์แผ่นดินเหลว

การวิจัยนี้ที่ยังคงเดินหน้าศึกษาค้นคว้าโดยใช้ข้อมูลต่างๆ เช่น ภาพถ่ายจากดาวเทียม และรายงานความเสียหายในการสำรวจภาคพื้น ถือเป็นการศึกษาขอบเขตปรากฏการณ์แผ่นดินเหลวอันเกิดจากแผ่นดินไหวคาบสมุทรโนโตะ 2024 อย่างเต็มรูปแบบครั้งแรก

ความเสียหายที่เกิดจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวในวันปีใหม่นั้นมีนัยสำคัญ เนื่องจากระยะเวลาการสั่นสะเทือนที่ยาว กอปรกับหลายพื้นที่มีประเภทของดินที่มีแนวโน้มก่อให้เกิดปรากฏการณ์แผ่นดินเหลว เช่น ทรายหรือดินถม

จำนวนจุดเกิดปรากฏการณ์แผ่นดินเหลวจากแผ่นดินไหวในวันขึ้นปีใหม่ (1,724 จุด) นั้นสูงกว่าจำนวนจุดดังกล่าวจากแผ่นดินไหวใหญ่ฮันชิน (1,266 จุด) และคาดว่าจะสูงเกิน 2,000 จุด ซึ่งมากกว่าจำนวนจุดดังกล่าวจากแผ่นดินไหวคุมาโมโตะ 2016 (1,890 จุด) ส่วนแผ่นดินไหวใหญ่ญี่ปุ่นตะวันออก 2011 ก่อให้เกิดจุดดังกล่าวสูงถึง 8,600 จุด