"อัครเดช"นำทีมยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน (มีคลิป)

2024-03-06 17:21:56

"อัครเดช"นำทีมยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน (มีคลิป)

Advertisement

"อัครเดช"นำทีม กมธ.อุตสาหกรรมยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน  ทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมมั่วมีโทษจำคุก

เมื่อวันที่ 6 มี.ค.67  ที่รัฐสภา นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยกมธ.อุตสาหกรรมได้ยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 (ฉบับที่...)พ.ศ...ต่อนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ เนื่องจากเห็นว่า กฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันล้าสมัยไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่องควรแก้ไขให้มีความเหมาะสม


นายอัครเดช กล่าวว่า การยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ.โรงงานครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก เนื่องจากพ.ร.บ.โรงงานปี 2562 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันพบว่า ยังไม่สามารถควบคุมผู้ประกอบการที่สร้างปัญหามลภาวะ โดยเฉพาะการจัดการกากของเสียโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถูกสุขภาพอนามัย ทั้งนี้ กมธ.อุตสาหกรรมได้รับเรื่องร้องเรียนว่า มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ประกอบการโดยละเมิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อประชาชน เมื่อมาดูสาเหตุหลักพบว่า นอกจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แล้ว อีกส่วนหนึ่งคือ กฎหมายโรงงานไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน กมธ.จึงเห็นว่าควรเสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.โรงงาน เพื่อให้มีสภาพการบังคับใช้ในกฎหมาย มีประสิทธิภาพ สำหรับ เหตุผลในการเสนอแก้ไขพ.ร.บ.โรงงาน คือ 1.เพื่อให้โรงงานเข้ามาอยู่ในกฎหมายที่มีการเพิ่มโทษอาญา พ.ร.บ.โรงงานเดิม ใครกำจัดกากของเสียอย่างไม่ถูกกฎหมายมีแค่โทษปรับเป็นโทษทางแพ่งเท่านั้น จึงเป็นอุปสรรคกับเจ้าหน้าที่ แต่การเพิ่มโทษอาญาจะทำให้ผู้ประกอบการมีความเกรงกลัวมากยิ่งขึ้น เพราะมีโทษจำคุกและปรับที่หนักกว่าเดิมคือจำคุก 5 ปีสำหรับผู้ประกอบการที่จงใจ ละเมิดทิ้งกากอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน 2.กฎหมายใหม่ที่เสนอแก้ไขได้ให้อำนาจกระทรวงอุตสาหกรรม ในการออกกฎกระทรวงให้การบังคับใช้กฎหมายครอบคลุมมากขึ้น เดิม จะต้องมีแรงม้า 50 แรงม้า หรือคน 50 คนขึ้นไปถึงจะเข้าเกณฑ์ ให้กรมโรงงานตรวจสอบได้ แต่กฎหมายที่กมธ.ร่างขึ้นมาใหม่ให้อำนาจรมว.อุตสาหกรรมในการออกกฎกระทรวง เช่น โรงงานพลุแม้เครื่องจักรจะมีแรงม้าต่ำกว่า 50 แรงม้าก็ให้รัฐมนตรีสามารถพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรมได้ว่ามีโรงงานไหนให้รัฐมนตรีเข้ามาควบคุมภายใต้พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่บ้างนายอัครเดช กล่าวว่า เหตุผลข้อ 3.มีการเพิ่มอำนาจทางปกครองให้เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอำนาจทางการปกครองมากขึ้นในการบังคับใช้กฎหมาย มีอำนาจสั่งปิดโรงงานหรือสั่งปรับปรุงแก้ไข ในกรณีโรงงานใดที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างร้ายแรง อย่างไรก็ตาม การเสนอแก้พ.ร.บ.โรงงานครั้งนี้ ก็เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทางด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่ถูกละเมิดจากผู้ประกอบการที่จงใจละเมิดกฎหมาย สำหรับขั้นตอนในการพิจารณากฎหมายอยู่ที่สภาฯจะพิจารณา

ด้านนายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ต้องขอบคุณกมธ.อุตสาหกรรมที่มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย อยู่หน้านี้ประเทศเราส่งเสริมอุตสาหกรรมกฎหมายที่เพื่อความเจริญของประเทศประเทศแต่ก็มีปัญหาตามมา ถึงต้องดูเรื่องกฎหมายอุตสาหกรรมให้เข้มข้นขึ้น และถ้าจำเป็นต้องมีกฎหมายอีกหลายฉบับก็ต้องเพิ่มเพื่อความปลอดภัย ในเรื่องอุตสาหกรรมของประเทศไทย ขอแสดงความยินดีที่กมธ.ได้ทำงานอย่างเต็มที่เสนอแก้ไขพ.ร.บ.โรงงานเข้ามา ตนจะรีบบรรจุในระเบียบวาระเพื่อนำมาพิจารณาในสภาฯอย่างเร็วที่สุด