ยกฟ้อง "ยิ่งลักษณ์" คดีโรดโชว์ 240 ล้าน

2024-03-04 14:39:48

ยกฟ้อง "ยิ่งลักษณ์"  คดีโรดโชว์ 240  ล้าน

Advertisement

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมติเอกฉันท์ยกฟ้อง "ยิ่งลักษณ์" กับพวกคดีโรดโชว์ 240 ล้าน

เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 67 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีการอ่านคำพิพากษาคดี หมายเลขดำที่ อม.2/2565 ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  เป็นโจทก์ ฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) บริษัทสยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) นายระวิ โหลทอง เป็นจำเลยที่ 1-6 ตามลำดับ  โดยคดีนี้เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 65 โจทก์ยื่นฟ้องว่า เมื่อเดือน ส.ค. 56 ถึงวันที่ 12 มี.ค. 57 จำเลยที่ 3 ขณะดำรงตำแหน่ง เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดำเนินการเสนอโครงการ Roadshow ที่มิใช่กรณีเร่งด่วน โดยจำเลยที่ 2 ขณะดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี ลงนามผ่านเรื่อง แล้วจำเลยที่ 1 ขณะดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ใช้ดุลพินิจบิดผันสั่งอนุมัติงบกลาง โดยเจตนาร่วมกันกำหนดให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็น ผู้รับจ้างจัดโครงการ โดยจำเลยที่ 3 เสนอจำเลยที่ 2 เพื่อขออนุมัติจัดจ้างการดำเนินการโครงการดังกล่าวโดยวิธีพิเศษ อันเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยังร่วมกันดำเนินการเพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติยกเว้นการลงนามในสัญญาก่อนได้รับเงินประจำงวดทั้งที่ไม่เข้าเงื่อนไขอันจะได้รับการยกเว้น เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวนเงิน 239.7 ล้านบาท โดยจำเลยที่ 4-6 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12, 13 ลงโทษจำเลยที่ 4-6 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 ประกอบ มาตรา 86 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา86 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 12, 13 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 กับนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อม.211 /2560 ของศาลนี้

 โจทก์ยื่นฟ้องกรณีไม่ปรากฏตัวจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาด เบื้องต้นว่า ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้สั่งไม่ประทับ รับฟ้อง องค์คณะผู้พิพากษา มีคำสั่งไม่ประทับรับฟ้องข้อหาเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดซื้อโดยใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 โดยเห็นว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่าจำเลยทั้งหก เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว ส่วนข้อหาอื่นให้ประทับรับฟ้องไว้พิจารณา โจทก์อุทธรณ์คำสั่งไม่ประทับรับฟ้องดังกล่าว เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 65 ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยองค์คณะชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ พิพากษายืน   จำเลยที่ 1 ไม่มาศาล ถือว่าจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2-6 ให้การปฏิเสธ

ศาลไต่สวนพยานโจทก์นัดแรกเมื่อวันที่ 2 ม.ค. 66 นัดไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้ายวันที่ 7 ธ.ค. 66 คู่ความขอแถลงปิดคดีภายใน 60 วัน  ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานทางไต่สวนรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1-3 กำหนดตัวบุคคลให้เป็นผู้รับจ้างไว้ล่วงหน้า ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1-3 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการอนุมัติจัดจ้างโครงการ Roadshow โดยวิธีพิเศษตามฟ้องหรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยวงเงิน 40,000,000 บาท ก่อนสำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ปรากฏว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏ เป็นผู้ริเริ่มให้ดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ แต่เป็นการเสนอของเจ้าหน้าที่ตามลำดับชั้นโครงการ Roadshow กำหนดเริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. 56 และจำเลยที่ 3 เสนอเรื่องต่อจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 56 จึงไม่อาจใช้วิธีการประกวดราคา ทั้งหัวหน้าฝ่ายพัสดุ เกษียนข้อความรับรองว่าตรวจแล้ว ถูกต้องตามระเบียบพัสดุ กรณีมีเหตุเพียงพอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาได้ว่าเป็นงานที่ต้องกระทำโดยเร่งด่วน หากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่ราชการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 24(3) เช่นนี้ แม้จำเลยที่ 2 สั่งอนุมัติภายในวันเดียวก็ไม่ถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ กรณีจึงมีเหตุที่จะทำให้จำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริต จึงขาดเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีสำหรับจำเลยที่ 3 นั้น เห็นว่า ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นหน้าที่และอำนาจของจำเลยที่ 3 ในฐานะ หัวหน้าส่วนราชการ แต่เป็นกรณีการจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินเกินอำนาจอนุมัติของจำเลยที่3 จึงต้องเสนอจำเลยที่ 2 พิจารณา  ดังนี้ การที่จำเลยที่ 3 ไม่ได้เสนอเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างต่อคณะกรรมการบูรณาการการประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างอนาคตประเทศไทย จึงมิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ส่วนที่คณะกรรมการกำหนดราคากลางนำข้อเสนอราคาของจำเลยที่ 4 มาใช้ในการกำหนดราคากลางนั้นเป็นการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดราคากลางเอง โดยไม่ปรากฏว่ามีการคบคิดกันฉ้อฉลหรือไม่สุจริตหรือมีผู้ใดสั่งการหรือแทรกแซงการกำหนดราคากลางและคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษให้ต้องเลือกจำเลย ที่ 4 เป็นผู้รับจ้างแต่อย่างใด ทั้งเมื่อจำเลยที่ 3 ทราบเรื่องก็ยังมีคำสั่งให้ชะลอการจ่ายเงินค่าจ้างแก่จำเลยที่ 4-5 ไว้ก่อน   ประการสำคัญที่สุดหลังเกิดเหตุรัฐประหาร เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก็มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้น คณะกรรมการดังกล่าวก็เห็นว่าขั้นตอนการดำเนินโครงการ Roadshow เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 จึงอนุมัติเบิกจ่ายเงิน สอดคล้องกับที่คณะกรรมการสอบสวน ข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าไม่มีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ส่วนโครงการ Roadshow อีก 10 จังหวัด วงเงิน 200,000,000 บาท ก็ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะใช้วิธีการประกวดราคาได้ กรณีจึงมีเหตุผลเพียงพอให้จำเลยที่ 2 เข้าใจได้ว่าการจัดจ้างโครงการ Roadshow อีก 10 จังหวัด เข้าเงื่อนไขตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 24 (3) เช่นกัน  ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1-3 ร่วมกันดำเนินการให้มีการอนุมัติลงนามในสัญญาจ้างก่อนได้รับเงินประจำงวด โดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 (ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุ) หรือไม่ เห็นว่า ที่มาของการดำเนินการดังกล่าวมิใช่เกิดจากการกระทำเพื่อแก้ไขความผิดพลาดของจำเลยที่ 3 เองแต่การที่จำเลยที่ 3 ต้องเสนอจำเลยที่ 2 ลงนามในหนังสือไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีนั้น เกิดจากความจำเป็นต้องปฏิบัติไปตามที่คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ กรมบัญชีกลาง มีหนังสือแจ้ง และด้วยเหตุนี้ ย่อมเป็นเหตุผลให้จำเลยที่ 2 จำเป็นต้องมีหนังสือไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี การกระทำของจำเลยที่2-3 ในขั้นตอนนี้จึงมิได้เป็นการกระทำโดยมิชอบ ส่วนที่จำเลยที่ 1-2 ร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีและลงมติเมื่อวันที่ 7ม.ค.57 ด้วย ก็เพราะการอนุมัติให้ก่อหนี้ผูกพันก่อนได้รับอนุมัติเงินประจำงวด เป็นดุลพินิจและอำนาจของคณะรัฐมนตรีโดยเฉพาะตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 มาตรา 23 วรรคสี่ ไม่ปรากฏว่าการใช้ดุลพินิจของจำเลยที่ 1-2 ผิดกฎหมายหรือระเบียบ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1-2 ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนจำเลยที่ 4-6 ร่วมกันสนับสนุนจำเลยที่ 1-3 ในการกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงทางไต่สวนรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่1-3 กระทำความผิดดังวินิจฉัยแล้ว จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่4-6 เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด ส่วนที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 แบ่งจังหวัดเพื่อจัดทำงานนำเสนอ (Presentation) เป็นขั้นตอนก่อนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จึงไม่ถือว่าเป็นการตกลงร่วมกันเสนอราคาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 ดังนั้น จำเลยที่ 4-6 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง   องค์คณะผู้พิพากษามีมติเอกฉันท์ให้พิพากษายกฟ้อง

โดยผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศว่า วันนี้ศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษานานกว่า 2 ชั่วโมง โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ0 ยกฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีและพวกรวม 6 คน