"เรืองไกร" ร้อง ป.ป.ช. สอบ ส.ส.เขตแจ้งรายรับรายจ่ายเลือกตั้งหรือไม่

2024-03-01 12:20:13

"เรืองไกร" ร้อง ป.ป.ช. สอบ ส.ส.เขตแจ้งรายรับรายจ่ายเลือกตั้งหรือไม่

Advertisement

"เรืองไกร" ร้อง ป.ป.ช. สอบ ส.ส.เขตทั้งสภาฯ แจ้งรายรับรายจ่ายเลือกตั้งหรือไม่

เมื่อวันที่ 1 มี.ค.67 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ   ) เปิดเผยว่า ช่วงนี้มีเวลาว่าง เนื่องจาก กมธ.งบประมาณงดประชุม 3 วัน ตนจึงมีเวลามาตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ ส.ส. ที่เปิดเผยไว้ในเว็บไซต์ ป.ป.ช. ที่ตนได้บันทึกเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ พบการแจ้งรายรับรายจ่ายของ ส.ส. รายหนึ่ง ที่แตกต่างไปจากรายอื่น ๆ

นายเรืองไกร กล่าวว่า นายชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน  ต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. ราชบุรี เขต 5 เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566 แตกต่างจาก ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งรายอื่น ๆ โดยมีการนำรายได้และรายจ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.66 มายื่น ป.ป.ช. ด้วย ดังนี้  รายได้เป็นเงินที่ได้รับการจัดสรรให้ของพรรคการเมือง จำนวน 600,000 บาท  รายจ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง พ.ค. 2566 จำนวน 1,335,430.50 บาท

นายเรืองไกร กล่าวว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ภายในกำหนดเก้าสิบวันนับจากวันเลือกตั้ง ผู้สมัครแต่ละคนและหัวหน้า พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ต้องยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายต่อคณะกรรมการ ตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ได้จ่ายไปแล้วและที่ยังค้างชําระ รวมทั้งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริง และผู้สมัครหรือหัวหน้าพรรคการเมือง แล้วแต่กรณีต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องครบถ้วนของบัญชีรายรับและรายจ่าย"

นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า การที่นายชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ ยื่นรายได้และรายจ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งต่อ กกต. และ ป.ป.ช. จึงถูกต้อง ดังนั้น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งรายใดที่ยื่นต่อ กกต. แต่ไม่ยื่นต่อ ป.ป.ช. จึงไม่น่าจะถูกต้อง กรณี จึงควรตรวจสอบ ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่เหลือ 399 คน ว่าได้ยื่นรายได้และรายจ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ต่อ ป.ป.ช. ด้วยหรือไม่ ถ้าไม่ยื่น จะเข้าข่ายต้องส่งเรื่องให้ศาลฎีกาพิพากษา ตามที่ ป.ป.ช. เคยปฏิบัติมา หรือไม่   การไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ เช่น ไม่แนบแบบภาษีให้ครบถ้วน ป.ป.ช.เคยร้องจนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิจารณาพิพากษาให้พ้นจากตำแหน่งและตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งมาแล้ว เช่น คดีหมายเลขแดงที่ อม.173/2562 วันที่ 10 ก.ค.62 เป็นต้น

นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า เมื่อมี ส.ส. รายหนึ่ง ยื่นรายได้และรายจ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งต่อ กกต. และ ป.ป.ช. ไปอย่างถูกต้องแล้ว ดังนั้น หาก ส.ส. รายอื่นที่เหลือ 399 คน ไม่นำรายได้และรายจ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ยื่นต่อ กกต. มายื่นต่อ ป.ป.ช ด้วยนั้น ส.ส.ที่ไม่ยื่นรายได้และรายจ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งต่อ ป.ป.ช. ก็น่าจะเข้าข่ายเป็นการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ คือรายรับรายจ่ายที่ใช้ในการเลือกตั้งดังกล่าวต่อ ป.ป.ช. ภายในเวลาที่กำหนด หรือไม่ และจะเข้าข่ายเป็นการจงใจยืนบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ หรือไม่ ในวันนี้ ตนจึงหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึง ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตรวจสอบ ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งสภาที่เหลือ 399 คน ว่ามีรายใดไม่นำรายได้และรายจ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ยื่นต่อ กกต. ไปยื่นต่อ ป.ป.ช ด้วย หรือไม่ หากมี ก็ต้องขอให้รับส่งศาลเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไปโดยเร็ว