"ชัยธวัช" ลุยเชียงใหม่เปิดเวทีรับฟังปัญหา PM2.5

2024-03-01 11:51:20

"ชัยธวัช" ลุยเชียงใหม่เปิดเวทีรับฟังปัญหา PM2.5

Advertisement


"ชัยธวัช" ลุยเชียงใหม่เปิดเวทีแลกเปลี่ยนรับฟังความเห็นประเด็นฝุ่นพิษ PM2.5 นำไปสู่การแก้ไขปัญหา

เมื่อวันที่ 1 มี.ค.67 นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร จัดโครงการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพบประชาชน ครั้งที่ 1  ระหว่างเวลา 08.00-15.00 น. ณ ห้องดวงตะวันแกรนด์บอลรูม โรงแรมดวงตะวัน เชียงใหม่  อ.เมืองเชียงใหม่  จ.เชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ นักศึกษาและประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับปัญหาอันเนื่องมาจากฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศ ซึ่งจะนำไปสู่การผลักดันการแก้ไขทั้งในด้านนโยบาย ด้านกฎหมาย และการดำเนินการตามกระบวนการนิติบัญญัติต่อไป การจัดเวทีเสวนาในครั้งนี้เริ่มด้วยการกล่าวเปิดสัมมนาและปาฐกถาพิเศษของผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรต่อผู้เข้าร่วมสัมมนา

นายชัยธวัชกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ฝุ่นเศรษฐกิจ พิษการเมือง : เศรษฐกิจการเมืองเรื่องฝุ่นควัน"  ว่าคนไทยเริ่มสูดฝุ่นพิษ PM2.5 มาแล้วประมาณ 20 ปี แต่รัฐบาลไทยเพิ่งประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติเมื่อปี 2562 โดยปัญหาฝุ่นควันสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล ต้นทุนที่สำคัญที่สุดคือ ‘ต้นทุนด้านสุขภาพ’ ที่มีตัวเลขผู้เสียชีวิตประมาณปีละ 30,000 ราย มากกว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน, ยาเสพติดและฆาตกรรมรวมกัน โดยภาคเหนือมีผู้สูบบุหรี่น้อยกว่าภาคอื่น แต่ประชาชนกลับมีความเสี่ยงจากโรคมะเร็งปอด ปอดอุดตัน หอบหืด สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ย้อนกลับไปเมื่อการประกาศวาระฝุ่นแห่งชาติในปี 2562 พบว่ามีการตั้งตัวชี้วัดไว้ 3 ตัว แต่ล้มเหลวทุกตัวชี้วัดในตลอด 4 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นบ้างในบางปี แต่ปีต่อมาก็กลับมาแย่กว่าเดิม

นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ เมื่อย้อนดูสถิติจุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้านรอบไทย ก็พบตัวเลขสูงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษในประเทศไทยไม่สามารถจัดการแค่ในประเทศไทยได้อย่างเดียวแน่นอน สำหรับปัญหาและความท้าทายเรื่องการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 พบว่า 1.ระบบราชการรวมศูนย์แบบแยกส่วน: การบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการไม่เป็นจริง ต่างคนต่างกระทรวงต่างทำ อำนาจและงบประมาณกระจุก ไม่กระจาย ท้องถิ่นขาดเงิน จัดสรรงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ตรงเป้า กฎระเบียบเป็นอุปสรรค 2.ประสิทธิภาพของภาครัฐ: พบว่ามีการสั่งการ ตั้งเป้าหมาย แต่ไม่มีแผนรูปธรรมชัดเจนและต่อเนื่อง จัดการปัญหาภัยพิบัติแบบตามฤดูกาล ตั้งคณะกรรมการเดือนตุลาคม สลายตัวเดือนพฤษภาคม โดยไม่มีระบบจัดการปัญหาเชิงโครงสร้าง กระบวนการนิติบัญญัติออกกฎหมายล่าช้า เช่นกฎหมายอากาศสะอาด กฎหมายว่าด้วยการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารพิษ (PRTR) 3.การจัดการทุนใหญ่ ที่ส่งผลทางตรงหรือทางอ้อมต่อต้นตอฝุ่นพิษข้ามแดน: ต้องมีมาตรการทางการค้า การทูต และข้อผูกพันในเชิงกฎหมาย และขยายความรับผิดชอบไปยังเอกชนรายใหญ่ทั้งผลผลิตอ้อยและข้าวโพด ไม่ใช่แค่การข้อความร่วมมือ 4.ปัญหาการมองว่าประชาชนเป็นตัวปัญหาแล้วโยนภาระให้ชาวบ้าน : โดยภาครัฐจะต้องมีการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ และต้องสร้างแรงจูงใจและทางเลือกใหม่ทางเศรษฐกิจด้วย