"สิทธิพล"ยินดี รมช.คลังจ่อทบทวนเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการราคาไม่เกิน 1,500 บาท

2024-02-16 12:06:20

"สิทธิพล"ยินดี รมช.คลังจ่อทบทวนเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการราคาไม่เกิน 1,500 บาท

Advertisement

"สิทธิพล"ยินดี รมช.คลังเตรียมทบทวนเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการราคาไม่เกิน 1,500 บาท แนะเร่งแก้ประกาศกรมศุลกากร 191/2561 ต้นตอสินค้าต่างประเทศทะลักตลาดไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า  VAT เอาเปรียบผู้ประกอบการไทย 

เมื่อวันที่ 16 ก.พ.67 นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ให้ความเห็นต่อกรณีกระทรวงการคลังเตรียมพิจารณาทบทวนการยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าราคาไม่เกิน 1,500 บาท และเตรียมพิจารณาแก้ไขประมวลรัษฎากร ยกเลิกการยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้านำเข้า เพื่อให้กรมสรรพากรดำเนินการจัดเก็บ VAT นำเข้าในทุกรายการสินค้าได้

นายสิทธิพล ระบุว่า การทบทวนมาตรการภาษีนี้เป็นเรื่องที่สมควรอย่างมากและควรทำในทันที เพราะเป็นประเด็นที่ตัวแทนผู้ประกอบการไทยเคยมาให้ข้อมูลกับกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจที่ตนเป็นประธาน มาตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งผู้ประกอบการไทยเคยเรียกร้องกับทางว่ารัฐบาลมานานแล้ว แต่ไม่เคยมีการแก้ไขผ่านมา 3-4 ปีแล้ว และวันนี้ปัญหาก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ในวันที่การค้าออนไลน์และการค้าแพลตฟอร์มเติบโตขึ้น ผู้ประกอบการไทยคือผู้ที่ต้องเสียเปรียบมาโดยตลอด เกิดจากช่องว่างทางภาษีที่อนุญาตให้สินค้านำเข้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาทไม่ต้องเสีย VAT ขณะที่สินค้าไทยที่ขายอยู่ในร้านค้าคนไทยต้องจ่าย VAT ตั้งแต่บาทแรกของมูลค่าสินค้า  จากการประเมินของผู้ประกอบการที่มาให้ข้อมูลกับกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเมินว่ามีคนไทยซื้อสินค้าและบริการออนไลน์สูงถึง 9 แสนล้านบาทต่อปี นี่คือปริมาณผลกระทบที่กำลังเกิดกับผู้ประกอบการเอกชน รวมถึงภาษีที่อาจจะสูญเสียไปที่รัฐไม่สามารถเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

นายสิทธิพล ระบุด้วยว่าที่สำคัญที่สุดคือมีข้อตกลงระหว่างประเทศที่อนุญาตให้เข้าผู้ประกอบการต่างชาติสามารถนำสินค้ามาพักในคลังสินค้า ที่เรียกว่า Free Trade Zone Distribution Center โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายภาษี ทำให้สามารถเอาสินค้าเข้ามากองไว้ก่อนในคลังสินค้า แล้วพอลูกค้าซื้อของค่อยส่งจากคลังสินค้าที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเหล่านี้ เช่น ที่สมุทรปราการหรือชลบุรี  เมื่อประกอบกับกฎหมายที่อนุญาตให้สินค้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทไม่ต้องเสียภาษีทั้งอากรนำเข้าหรือ VAT ก็ยิ่งทำให้สินค้าจากต่างประเทศยิ่งไม่ต้องเสียภาษีอะไรเลย ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลให้สินค้าออนไลน์จากต่างชาติเข้ามาเอาเปรียบสินค้าไทย และทำให้นับวันสินค้าคนไทยยิ่งขายได้ยากขึ้น ทำให้เงินทุกบาทที่คนไทยซื้อของออนไลน์ไหลออกต่างประเทศ กระทบเศรษฐกิจไทยในภาพรวม นับวันยิ่งเงินหมุนเวียนในประเทศลดลง กระทบการจ้างงาน และกระทบไปถึงการลงทุนด้วย  ถ้าวันนี้ไปเปิดดูในแพลตฟอร์มชอปปิ้งทั้งหลาย จะพบได้ว่าสินค้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาทมีปริมาณเฉลี่ยถึง 95% ของสินค้าทั้งหมด เพราะฉะนั้นเรียกได้ว่าสินค้าเกือบทั้งหมดที่ขายอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ล้วนแต่ได้รับการยกเว้นภาษี ขณะที่สินค้าไทยทั้งหมดถูกปฏิบัติในอีกแบบหนึ่ง คือต้องจ่ายภาษี เป็นความอยุติธรรมจริงๆ 

นายสิทธิพล กล่าวอีกว่า ในฐานะที่พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านเชิงรุกที่อยากให้รัฐบาลทำงานได้ง่ายขึ้น เราจึงเสนอว่าต้นเหตุของปัญหาที่ต้องมีการแก้ไขในทันที คือประกาศกรมศุลกากรที่ 191/2561 ระบุหลักเกณฑ์ของนำเข้าที่ได้รับการยกเว้นอากร ซึ่งประกาศนี้คือต้นตอที่เป็นปัญหาที่ฆ่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา เพราะระบุอนุญาตให้สินค้ามูลค่าไม่เกิน 1,500 บาทได้รับการยกเว้นอากร ซึ่งถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็คือนายกรัฐมนตรีอยากแก้ปัญหานี้ มีอำนาจสามารถทำได้ทันทีด้วยการแก้ประกาศกรมศุลกากร เป็นเหมือนกุญแจดอกแรกแต่ทั้งนี้ ยังมีประมวลรัษฎากร มาตรา 81 (2) (ค) กำหนดให้ของที่ได้รับการยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มไปด้วย ทำให้ของที่เข้าข่ายมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทจึงได้รับการยกเว้น VAT ไปด้วย ซึ่งประมวลรัษฎากรนี้กระบวนการแก้ไขทำได้ยากกว่าและต้องใช้เวลา

"ผมดีใจและมีความคาดหวังว่านายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่กำกับดูแลกรมศุลกากรโดยตรงจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ทันที เพราะเป็นปัญหาที่ผู้ค้าเอสเอมอีชาวไทยถูกเอารัดเอาเปรียบและเผชิญความไม่เท่าเทียมจากกฎหมายมานานแล้ว แต่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือหรือแก้ไข พวกเขาจึงควรได้รับการช่วยเหลือทันที ไม่ควรล่าช้าไปกว่านี้แล้ว"นายสิทธิพล กล่าว

นอกจากนี้ ด้วยระบบนิเวศของการค้าออนไลน์ที่ทำให้คนไทยสั่งสินค้าออนไลน์มากขึ้น ความสามารถในการตรวจสอบสินค้านำเข้าจากต่างประเทศจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลต้องมีความรัดกุมให้มากขึ้นด้วย ภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มบุคลากร เครื่องมือ เทคโนโลยี ฯลฯ เพื่อสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐในการตรวจสอบหรือการปฏิบัติตามกฎหมายที่จะมีการแก้ไขใหม่นี้ให้รัดกุมขึ้นด้วย

นายสิทธิพล กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ กรณีภาษีนำเข้าและ VAT เป็นเพียงแค่หนึ่งในหลายๆ ปัญหาที่ผู้ประกอบการได้เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการฯ เท่านั้น ยังมีปัญหาสำคัญอีกสองประการที่รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการตามมาอีกหลังจากนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นบริการออนไลน์ ทั้งภาพยนตร์ ดนตรี สื่อโซเชียลมีเดีย หรือกระทั่งโฆษณาออนไลน์ ซึ่งจากข้อมูลที่ค้นคว้ามาโดยตัวแทนผู้ประกอบการชาวไทยที่เข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการฯ เชื่อว่าปีหนึ่งคนไทยจ่ายเงินให้กับบริการออนไลน์เหล่านี้เป็นมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับการส่งออกข้าวปีหนึ่งที่มีมูลค่าราว 1 แสนล้านบาท เรียกว่าเป็นการ “ขาดดุลดิจิทัล” ซึ่งตัวแทนผู้ประกอบการยังได้ยกคำถามขึ้นมาอีกว่ารัฐบาลต่างประเทศสามารถเก็บภาษีรายได้จากบริการออนไลน์เหล่านี้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่รัฐบาลไทยสามารถเก็บภาษีนี้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนกันหรือไม่ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมาธิการฯ วันนั้นที่มีตัวแทนจากทั้งกรมสรรพากร กรมศุลกากร ฯลฯ มาร่วมให้ข้อมูลด้วย ก็ปรากฏว่ายังไม่มีความชัดเจนในประเด็นนี้ แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมาย VES - VAT for Electronics Service (ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบริการอิเล็กทรอนิกส์) ให้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีถิ่นฐานอยู่ต่างประเทศมีหน้าที่ต้องมาขึ้นทะเบียนกันกรมสรรพากร แจ้งรายได้ และจ่ายภาษี แต่สิ่งที่หน่วยงานรัฐยังให้ข้อมูลได้ไม่ชัดเจน คือมีกระบวนการตรวจสอบหรือไม่ว่าแพลตฟอร์มออนไลน์จากต่างชาติมาขึ้นทะเบียนครบถ้วนแล้ว และคนที่มาขึ้นทะเบียนแล้วได้นำส่งรายได้เพื่อเสียภาษีอย่างครบถ้วนและเต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้วหรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีการร้องเรียนในประเด็นคุณภาพสินค้า เนื่องจากวันนี้ผู้ประกอบการไทยต้องปฏิบัติตามกฎหมายหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นตามมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) อาหารและยา (อย.) ฯลฯ แต่สินค้าจากต่างประเทศจำนวนมากที่ขายอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ได้รับการปฏิบัติตามมาตรฐานเดียวกันกับสินค้าไทย แม้กฎหมายระบุให้สินค้าจากต่างประเทศต้องยื่นขึ้นทะเบียนมาตรฐานต่างๆ ในแบบเดียวกัน แต่ก็พบว่ามีปัญหาภาครัฐไม่สามารถกวดขันอย่างครบถ้วน ซึ่งสินค้าจากต่างประเทศที่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนมาตรฐานเหล่านี้ ย่อมขายได้ในราคาที่ถูกกว่าและจูงใจสำหรับผู้บริโภคมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ไวตามิน หรืออาหารเสริมที่ไม่มี อย. แม้กระทั่งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มี มอก. ย่อมส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก นอกจากนี้สินค้าที่ราคาต่ำกว่าด้วยความไม่มีมาตรฐานเหล่านี้ ก็ยังมาแย่งส่วนแบ่งสินค้าไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ตนจึงขอเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลแพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์ ทั้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ต้องร่วมมือกันเพื่อขอความร่วมมือจากแพลตฟอร์ม ให้กำกับดูแลผู้ขายบนแพลตฟอร์มเหล่านั้นต้องให้ความสำคัญกับการขึ้นทะเบียนมาตรฐานเหล่านี้ และมีการตรวจสอบว่ามีการขึ้นทะเบียนจริงหรือไม่ เพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค