ผนังทรวงอกผิดรูป
ความผิดรูปของผนังทรวงอกเป็นภาวะที่กระดูกซี่โครงหรือกระดูกอ่อนซี่โครงมีความผิดปกติ ส่งผลให้รูปร่างของทรวงอกผิดไปจากปกติ ความผิดรูปของผนังทรวงอกมีหลายประเภท แต่ละประเภทมีสาเหตุและอาการที่แตกต่างกันไป
ประเภทของความผิดรูปของผนังทรวงอก
ภาวะหน้าอกหวำ (Pectus excavatum) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าหน้าอกบุ๋ม เป็นความผิดรูปที่พบบ่อยที่สุด มีอุบัติการณ์ประมาณ 1 ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ลักษณะที่เห็นจากภายนอกคือผนังทรวงอกด้านหน้าจะมีการยุบเข้าไปข้างในเห็นลักษณะเป็นเบ้าหรือเป็นร่อง ในรายที่รอยยุบมีความลึกมากอาจมีผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจหรือปอดได้ แต่ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ผู้ป่วยบางรายพบร่วมกับมาร์ฟานซินโดรม (Marfan syndrome)
ภาวะหน้าอกนูน (หน้าอกโป่งหรืออกไก่ Pectus carinatum) เป็นความผิดรูปที่พบได้น้อยกว่าประเภทแรก ลักษณะที่พบเห็นคือหน้าอกจะนูนออกมาด้านนอก เห็นเป็นสันนูนขึ้นมา โดยทั่วไปผู้ที่มีความผิดรูปชนิดนี้จะไม่มีอาการ แต่ถ้ามีอาการอาการที่พบบ่อยที่สุดคือเจ็บบริเวณผนังทรวงอกด้านหน้าซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อของทรวงอก ดังนั้นความผิดรูปชนิดนี้จึงไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายเช่นกัน
ภาวะหน้าอกเฉียง (Scoliosis) เป็นความผิดรูปที่กระดูกซี่โครงด้านใดด้านหนึ่งโค้งงอเข้าหรือออก ความผิดรูปนี้เกิดขึ้นจากการคดบิดเบี้ยวของแกนกระดูกสันหลัง ทำให้กระดูกซี่โครงที่เกาะกับกระดูกสันหลังเรียงตัวผิดรูปอันส่งผลทำให้ผนังทรวงอกบิดเบี้ยว และมักพบร่วมกับการผิดรูปชนิดหน้าอกหวำ
ภาวะกระดูกซี่โครงแตกหัก เกิดจากการบาดเจ็บ เช่น อุบัติเหตุ หรือตกจากที่สูงที่มีการกระแทกที่ผนังทรวงอกโดยตรง
เนื้องอกของผนังทรวงอก (Chest wall tumour) มีหลายประเภทเช่น ชนิดที่เป็นตั้งแต่กำเนิด เนื้องอกของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดปฐมภูมิ และเนื้อร้ายที่กระจายมาจากแหล่งอื่น
อาการของความผิดรูปของผนังทรวงอก
อาการของความผิดรูปของผนังทรวงอกอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเภท ในภาพรวมโดยทั่วไปผู้ป่วยอาจมีอาการต่อไปนี้
-ลักษณะที่เห็นจากภายนอกคือรูปร่างทรวงอกผิดไปจากปกติ
-ในรายที่ความผิดรูปรุนแรงอาจพบอาการหายใจลำบาก
-เหนื่อยง่าย
-เจ็บหน้าอก
-ปวดหลัง
การรักษาความผิดรูปของผนังทรวงอก
การรักษาความผิดรูปของผนังทรวงอกขึ้นอยู่กับประเภทของความผิดรูป ความรุนแรงของอาการ และความต้องการของผู้ป่วย การรักษาอาจทำได้หลายวิธี เช่น
-การรักษาแบบประคับประคอง เช่น การใส่เสื้อรัดทรวงอก การออกกำลังกาย
-การผ่าตัด การผ่าตัดเป็นวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับความผิดรูปของผนังทรวงอก การผ่าตัดมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับประเภทของความผิดรูป เช่น
-ความผิดรูปชนิดหน้าอกหวำ วิธีการผ่าตัดมาตรฐานในปัจจุบันคือ Nuss procedure มีหลักการของการผ่าตัดแก้ไขความผิดรูปชนิดนี้โดยการใส่แถบโลหะ (Metallic [Nuss] bar)เข้าไปในทรวงอกเพื่อยกกระดูกสันอก (sternum) ขึ้น เป็นการผ่าตัดชนิดแผลเล็ก (minimally invasive surgery) โดยศัลยแพทย์มองผ่านทางกล้องที่เรียกว่า thoracoscope เพื่อช่วยในการใส่แถบโลหะเข้าไปในผนังทรวงอก
-ความผิดรูปชนิดหน้าอกนูน วิธีการผ่าตัดมาตรฐานในปัจจุบันคือ Reversed Nuss procedure มีหลักการของการผ่าตัดแก้ไขความผิดรูปชนิดนี้โดยการใส่แถบโลหะ (Metallic [Nuss] bar)เข้าไปในทรวงอกเพื่อกดกระดูกสันอก (sternum) ที่นูนให้ราบลง เป็นการผ่าตัดชนิดแผลเล็ก (minimally invasive surgery) ที่แตกต่างจากประเภทแรกเนื่องจากไม่ต้องใช้กล้องช่วยในการผ่าตัด
-การผ่าตัดรักษากระดูกซี่โครงแตกหักที่เกิดจากการบาดเจ็บ ใช้การซ่อมแซมกระดูกด้วยแถบโลหะ (plates) เพื่อยึดกระดูกที่แตกหักเข้าด้วยกัน จะพิจารณาผ่าตัดชนิดนี้เมื่อผู้ป่วยมีกระดูกหักหลายซี่หรือหลายตำแหน่งที่ทำให้เกิดภาวะหน้าอกรวน (Flail chest)
-การผ่าตัดรักษาเนื้องอกของผนังทรวงอก (Chest wall tumour) ขึ้นกับประเภทของเนื้องอก แต่หลักการโดยทั่วไปคือการตัดเนื้องอกออกพร้อมกับผนังทรวงอกที่อยู่รอบๆ และทำการซ่อมแซมผนังทรวงอกที่ถูกตัดออกไปโดยใช้กระดูกซี่โครงเทียมหรือผนังเทียมเพื่อทำการปิดหรือซ่อมแซมช่องโหว่ที่เกิดจากผนังทรวงอกที่หายไป
ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดรักษาความผิดรูปของผนังทรวงอก อาจเกิดขึ้นได้ เช่น
-การติดเชื้อ
-เลือดออก
-เส้นประสาทถูกกดทับ
-ทรวงอกไม่เท่ากัน
-ผลลัพธ์ของการผ่าตัดไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
ข้อควรปฏิบัติหลังการผ่าตัดรักษาความผิดรูปของผนังทรวงอก
หลังการผ่าตัดรักษาความผิดรูปของผนังทรวงอก ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น
-พักผ่อนให้เพียงพอ
-ดื่มน้ำให้เพียงพอ
-รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง
-หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
-หลีกเลี่ยงการไอหรือจามแรงๆ
-พบแพทย์ตามนัด
รศ.นพ. ปิยะ สมานคติวัฒน์
สาขาวิชาศัลยศาสตร์ทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล