บริษัทเทคโนฯ 8 แห่ง ให้คำมั่นสร้าง "ปัญญาประดิษฐ์" ที่มีจริยธรรมมากขึ้น

2024-02-07 12:50:42

บริษัทเทคโนฯ 8 แห่ง ให้คำมั่นสร้าง "ปัญญาประดิษฐ์" ที่มีจริยธรรมมากขึ้น

Advertisement

กรันจ์, 6 ก.พ. (ซินหัว) — เมื่อวันจันทร์ (5 ก.พ.) บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก 8 แห่ง รวมถึงเลอโนโว กรุ๊ป (Lenovo Group) และไมโครซอฟต์ (Microsoft) ให้คำมั่นสร้างปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีจริยธรรมมากขึ้นตามกรอบงานของสหประชาชาติ (UN)

จีเอสเอ็มเอ (GSMA) อินนิต (INNIT) แอลจี เอไอ รีเสิร์ช (LG AI Research) มาสเตอร์การ์ด (Mastercard) เซลส์ฟอร์ส (Salesforce) เทเลโฟนิกา (Telefonica) เลอโนโว กรุ๊ป และไมโครซอฟต์ร่วมลงนามในข้อตกลง ณ การประชุมระดับโลกของยูเนสโก (UNESCO) ว่าด้วยจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ ครั้งที่ 2 ในเมืองกรันจ์ของสโลวีเนีย

ออเดรย์ อาซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การฯ กล่าวว่าการได้รับความมุ่งมั่นอันเป็นรูปธรรมจากบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกครั้งนี้เป็นอีกก้าวที่สำคัญ โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 องค์การฯ ได้สร้างฉันทามติในหมู่ประเทศสมาชิกทั้งหมดในการปรับใช้กรอบงานจริยธรรมระดับโลกสำหรับการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ฉบับแรก

อาซูเลย์เรียกร้องให้บริษัทเทคโนโลยีทั้งหมดปฏิบัติตามตัวอย่างของบริษัทเทคโนโลยีแปดแห่งข้างต้น และส่งเสริมการเป็นพันธมิตรระหว่างภาครัฐและเอกชนในการสร้างปัญญาประดิษฐ์เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

ข้อตกลงข้างต้นกำหนดให้บริษัทต่างๆ ดำเนินบทบาทเต็มที่ในการรับประกันสิทธิมนุษยชนในด้านการออกแบบ การพัฒนา การซื้อ การจำหน่าย และการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ อีกทั้งเรียกร้องให้ดำเนินการตรวจสอบปัญญาประดิษฐ์เพื่อให้สอดคล้องตามมาตรฐานความปลอดภัยและระบุผลข้างเคียง ควบคู่กับมาตรการป้องกัน บรรเทา หรือแก้ไขผลกระทบดังกล่าวโดยสอดคล้องกับข้อบังคับภายในประเทศ

ข้อเสนอแนะว่าด้วยจริยธรรมสำหรับปัญญาประดิษฐ์ (Recommendation on the Ethics of Artificial Intelligence) ของยูเนสโก ถือเป็นกรอบงานฉบับแรกของโลก และยังคงเป็นกรอบงานเชิงบรรทัดฐานเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์เพียงฉบับเดียว โดยเมื่อสองปีที่ผ่านมาประเทศกว่า 50 แห่งได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการและความร่วมมือพหุภาคีในประเด็นนี้

นับตั้งแต่ปรับใช้ข้อแนะนำดังกล่าว องค์การฯ ยังเดินหน้าความร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งสภาธุรกิจเพื่อจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ที่มีไมโครซอฟต์และเทเลโฟนิการ่วมเป็นประธาน โดยสภาฯ มุ่งมั่นเสริมสร้างขีดความสามารถทางเทคนิคในด้านจริยธรรมและปัญญาประดิษฐ์ ออกแบบและใช้เครื่องมือประเมินผลกระทบทางจริยธรรมตามข้อแนะนำ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการพัฒนาข้อบังคับระดับภูมิภาค

อนึ่ง การประชุมขององค์การฯ ระยะ 2 วัน หัวข้อ “ปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์การกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์” ดึงดูดคณะผู้แทนมากกว่า 600 คน จากหน่วยงานรัฐบาล องค์กรระหว่างประเทศ สถาบันทางวิชาการและการวิจัย รวมถึงองค์กรไม่แสวงผลกำไร และธุรกิจต่างๆ จาก 67 ประเทศ


(แฟ้มภาพซินหัว : ออเดรย์ อาซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การยูเนสโก ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่การประชุมระดับโลกว่าด้วยจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ ครั้งที่ 2 ในเมืองกรันจ์ของสโลวีเนีย วันที่ 5 ก.พ. 2024)


(แฟ้มภาพซินหัว : หวังเจียอี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการของจีน กล่าวในการประชุมระดับโลกว่าด้วยจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ ครั้งที่ 2 ในเมืองกรันจ์ของสโลวีเนีย วันที่ 5 ก.พ. 2024)


(แฟ้มภาพซินหัว : แขกเข้าร่วมการประชุมระดับโลกว่าด้วยจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ ครั้งที่ 2 ในเมืองกรันจ์ของสโลวีเนีย วันที่ 5 ก.พ. 2024)