"ครูมานิตย์" ชี้ขยับเวลาให้ ส.ว.ซักฟอกลำบาก คาดใช้เวลาภายใน 1 วัน

2024-02-05 15:44:25

"ครูมานิตย์" ชี้ขยับเวลาให้ ส.ว.ซักฟอกลำบาก คาดใช้เวลาภายใน 1 วัน

Advertisement

"ครูมานิตย์" ชี้ขยับเวลาให้ ส.ว.ซักฟอกลำบาก  คาดใช้เวลาภายใน 1 วัน ส.ว. 10 ชม. รัฐบาล  3 ชม.

เมื่อวันที่ 5 ก.พ.67 ที่รัฐสภา นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงกรณีที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.)  ยื่นร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่ง คสช. ว่า ในส่วนของพรรคเพื่อไทยจะมีการยื่นร่างประกบ นายเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้มอบหมายให้ นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และคณะให้ไปศึกษาคำสั่งคสช.ทั้งหมด ในขณะที่สภาก็มีฉบับของนายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เรื่องการแก้ไขคำสั่งที่ 14 ให้ยกเลิกและเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) เพราะฉะนั้นเรื่องนี้คงออกมาเร็วๆนี้เพราะไม่ใช่เรื่องยาก ทางภูมิใจไทยยื่นมาเราก็เป็นวิปรัฐบาลร่วมกัน เราก็ต้องนำมาดูและพูดคุยกัน เพื่อทำให้กฎหมายดีที่สุด อะไรที่จะต้องยกเลิกก็ต้องยกเลิก อะไรที่ยังเป็นประโยชน์ก็นำมาปรับปรุงใหม่ ส่วนจะยื่นเข้ามาเมื่อไหร่นั้น นายครูมานิตย์ระบุว่า จะไปสอบถามที่ประชุมสอบ ส.ส.พรรคในวันที่ 6 ก.พ.67

นายครูมานิตย์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ได้มอบหมายให้นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามกฎหมายของทุกกระทรวงที่นำมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะกฎหมายคือเครื่องมือ เราเองก็เห็นว่ากฎหมายที่ร่างโดยรัฐบาลยังเข้าสภาน้อยไป ทางพรรคเองก็ได้กำชับเรื่องนี้

เมื่อถามถึงกรณีกรอบเวลาที่ ครม.ให้กรอบอภิปรายกับ ส.ว.ดูจะล่าช้าไปนั้น นายครูมานิตย์ กล่าวว่า ถ้าดูเนื้อหากันจริงๆก็ไม่รู้ว่าจะมาอภิปรายเรื่องอะไร และเป็นครั้งแรกด้วยตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 60 ที่ ส.ว. ขออภิปรายรัฐบาลโดยใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 153 และใช้ข้อบังคับของวุฒิสภา 171 ซึ่งเป็นสิทธิ แต่หากถามว่าช้าไปหรือไม่ ก็ไม่ถึงกับช้า ก็ต้องเห็นใจนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เนื่องจากต่างคนต่างมีภารกิจที่จะแก้ปัญหา และเท่าที่ทราบเรื่องที่สว.จะอภิปราย อาทิ เรื่องแลนด์บริดจ์ ดิจิทัลวอลเล็ต รวมถึงเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน ก็เป็นที่ปรากฏชัดในเรื่องของดิจิทัลวอลเล็ต นายกรัฐมนตรีก็ให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ให้ความเห็นอย่างไร

นายครูมานิตย์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องแลนด์บริดจ์ที่ตนเป็นรองคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการทำแลนด์บริดจ์ ขณะนี้กำลังทำรูปเล่มแล้วเพื่อนำสู่การประชุมสภา และหลังจากนั้นต้องขอมติสภาเพื่ออนุมัติให้ผ่าน หากสภาอนุมัติให้ผ่าน ก็จะนำไปสู่ขั้นตอนการทำ พ.ร.บ. ซึ่งมีหลายประเทศให้ความสนใจร่วมทุน ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องพื้นฐานที่สามารถมองเห็นได้ในวันนี้ ส่วนปัญหาเศรษฐกิจบางเรื่องก็ดีขึ้น บางเรื่องก็ไม่ดี เป็นเรื่องปกติ ซึ่งเราก็ต้องแก้กันไป ดังที่ทราบว่านายกฯก็ไม่ได้พักผ่อนเลยจนล้มป่วย เพราะท่านพยายามที่จะแก้ปัญหาในทุกมิติ

เมื่อถามว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะขยับวันอภิปรายให้เร็วขึ้น นายครูมานิตย์ กล่าวว่า คงจะลำบาก เพราะเท่าที่ทราบน่าจะเป็นวันที่ 20 มี.ค.นี้ ถ้าขยับให้เร็วขึ้นก็คงจะเป็นวันที่ 18 มี.ค. ซึ่งตอนนี้ทางรัฐบาลก็ส่งเรื่องมาให้วิปรัฐบาลได้พิจารณาถึงเรื่องจำนวนเวลา ส่วนเรื่องวันก็เป็นเรื่องของครม. วิปไม่สามารถไปตอบแทนได้ ส่วนเรื่องของเวลาวิปอาจจะเสนอว่า ให้พิจารณาจากเนื้อหาสาระว่าต้องใช้เวลาเท่าไร ที่จะให้วุฒิสมาชิกอภิปรายและสอบถาม ในเบื้องต้นคิดว่าจะใช้เวลา 13 ชั่วโมง โดยใช้เวลาภายใน 1 วัน โดยให้เวลา ส.ว. 10 ชั่วโมง รัฐบาลอีก 3 ชั่วโมง รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เวลามากกว่านั้นในการตอบ แต่เท่าที่คุยกับวุฒิสมาชิกบางคน เขาก็บอกว่าไม่รู้จะอภิปรายในแง่มุมตรงไหน เราดูจากการลงชื่อแค่ 89 คน ส่วนที่เหลืออีกเป็นร้อย ยังหาแง่มุมยังยากอยู่