การค้า "กัมพูชา-จีน" โตต่อเนื่อง แม้อุปสงค์ทั่วโลกชะลอตัว

2024-01-12 15:05:30

การค้า "กัมพูชา-จีน" โตต่อเนื่อง แม้อุปสงค์ทั่วโลกชะลอตัว

Advertisement

พนมเปญ, 11 ม.ค. (ซินหัว) — เมื่อวันพุธ (10 ม.ค.) เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาและผู้เชี่ยวชาญ เปิดเผยว่าการค้าระหว่างกัมพูชา-จีน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2023 ซึ่งเป็นผลจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) แม้อุปสงค์ทั่วโลกชะลอตัวลง

เพ็น โสวิชิต ปลัดและโฆษกกระทรวงฯ ระบุว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2022 ช่วยอัดฉีดแรงขับเคลื่อนที่แข็งแกร่งต่อการเติบโตดังกล่าว

โสวิชิตเปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวของจีนว่าข้อตกลงทั้งสองนี้ทำให้ผลิตภัณฑ์ของกัมพูชา โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตรคุณภาพสูง อาทิ ข้าวสาร กล้วยสีเหลือง มะม่วง ลำไย มันสำปะหลัง และพริกไทย ถูกส่งออกไปยังจีนด้วยอัตราภาษีพิเศษ และเป็นตัวเร่งการเติบโตทางการค้าในระยะยาวของกัมพูชา ทั้งดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากขึ้น

โสวิชิตระบุว่าการเติบโตนี้มีส่วนมาจากความสัมพันธ์อันดีและความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างสองประเทศ ตลอดจนกิจกรรมส่งเสริมทางการค้า อาทิ งานแสดงสินค้า และเวทีการประชุมทางธุรกิจ

คิน เพีย อธิบดีสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สังกัดราชบัณฑิตยสถานแห่งกัมพูชา ระบุว่าการเติบโตของการค้าดังกล่าวแสดงถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งระหว่างกัมพูชาและจีน ท่ามกลางอุปสงค์ทั่วโลกที่อยู่ในสภาวะชะลอตัว

เพียกล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่าการเติบโตในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากระดับโลก สะท้อนความยืดหยุ่นของความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศอย่างแท้จริง โดยปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้นนี้ส่งมอบผลประโยชน์ที่มากขึ้นต่อทั้งสองประเทศและประชาชน และอัดฉีดแรงผลักดันมากขึ้นในการสร้างประชาคมกัมพูชา-จีนที่มีอนาคตร่วมกันในยุคใหม่

คี เสรีวัต นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส และอธิบดีสถาบันจีนศึกษาของราชบัณฑิตยฯ ระบุว่าความสัมพันธ์กัมพูชา-จีนถูกยกระดับสู่การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านเมื่อปี 2010 และพัฒนาไปสู่มิตรภาพที่แข็งแกร่งและความร่วมมือเพชรหกเหลี่ยม (Diamond Hexagon)

เสรีวัตเผยว่าความช่วยเหลือและการลงทุนของจีนมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกัมพูชา ทั้งยังสร้างงานนับแสนอัตราให้แก่คนในท้องถิ่น

เสรีวัตกล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของจีนหลายโครงการภายใต้แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) อาทิ ทางด่วน สิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ ท่าเรือ ท่าอากาศยาน โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้สร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยสำหรับกัมพูชาในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางการค้ากับจีนและประเทศอื่นๆ


(แฟ้มภาพซินหัว : คนงานปอกมะม่วงสุกในบริษัท จงเป่า (กัมพูชา) ฟู๊ด ไซแอนซ์ แอนด์ เทคโนโลยี จำกัดในจังหวัดกำปงสปือของกัมพูชา วันที่ 7 มี.ค. 2023)


(แฟ้มภาพซินหัว : รถบรรทุกวิ่งออกจากท่าเรือบกย่านชานกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา วันที่ 13 ม.ค. 2022)