​นายกฯจ่อประสานเพื่อนบ้านแก้ปัญหาฝุ่น-ไฟป่า

2024-01-11 17:35:29

​นายกฯจ่อประสานเพื่อนบ้านแก้ปัญหาฝุ่น-ไฟป่า

Advertisement

​นายกฯ ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา Hotspot ในพื้นที่ภาคเหนือ  พอใจจุดความร้อนในเชียงใหม่ลดลง ชื่นชมทีมไทยแลนด์ทำงานได้ดี เตรียมประสานเพื่อนบ้าน แก้ปัญหาฝุ่นและไฟป่า

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 67 ที่ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการควบคุมไฟป่าภาคเหนือ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ภาคเหนือ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าการลดจุดความร้อน (Hotspot) และการทำแนวกันไฟต้องอาศัยร่วมแรงร่วมมือกันอย่างจริงจัง ผ่านการประสานงานอย่างใกล้ชิดทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชน ทั้งนี้ กระทรวงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ไปเยอะมาก แต่ปัญหาบางอย่างก็ยังไม่สามารถควบคุมได้โดยตรง ซึ่งบางปัญหาก็เกิดจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งตนไม่อยากให้นำมาเป็นเหตุผลหรือข้ออ้าง เนื่องจากประเทศไทยนับเป็นพี่ใหญ่ เรามีเทคโนโลยี มีทรัพยากรที่มากกว่า เพราะฉะนั้นเราต้องมีการพูดคุย เจรจากับประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยตนจะพูดคุยกับกระทรวงการต่างประเทศให้มากขึ้นเพื่อร่วมแก้ไขปัญหา

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวอีกว่า ภารกิจนี้เป็นภารกิจที่หนักมากในช่วง 4 เดือนที่จะถึงนี้ โดยต้องขอบคุณความทุ่มเทที่ทุกคนเอาใจใส่ นำปัญหานี้มาเป็นปัญหาหลักในการทำงานแบบบูรณาการ ซึ่งก่อนหน้านี้เราได้มีการพูดคุยกันภายในประเทศ ทุกหน่วยงานมีการทำงานอย่างเต็มที่ เราต้องพยายามต่อไปในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน หากมีวิธีการหรือช่องทางใดที่รัฐบาลสามารถช่วยเหลือได้ รัฐบาลยินดีเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ ในฐานะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาตรงนี้ ตนเข้าใจว่าทุกหน่วยงานมียุทโธปกรณ์ที่ไม่เพียงพอ แต่เราสามารถโยกย้ายยุทโธปกรณ์ไปตามความจำเป็นได้ เพื่อนำไปช่วยเสริมในบางหน่วยงานที่ขาดแคลน อีกทั้งอยากฝากให้ทุกหน่วยงานดูแลเรื่องความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ให้ดี ทั้งเรื่องการพักผ่อน ชีวิตและจิตใจ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่


จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะได้ร่วมทำแนวกันไฟ และรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า หรือเสือไฟ พร้อมชมการสาธิตการดับไฟป่าทางอากาศ รวมทั้งได้มอบข้าวสารอาหารแห้งให้กับเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า (เสือไฟ) เพื่อใช้สำหรับดำรงชีพระหว่างที่ออกปฏิบัติหน้าที่ดูแลดับไฟป่าด้วย 

นายเศรษฐา  ให้สัมภาษณ์ถึงการมาตรวจราชการจังหวัดเชียงใหม่ ว่า ได้มีการประชุมเตรียมความพร้อมเรื่องป้องกันไฟป่า รวมถึงการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่โดยรวม ทั้งนี้ ก่อนเข้าประชุมได้มีเรื่องด่วน โดยตนเองได้เซ็น ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ให้กับพรรคก้าวไกล ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าสู่สภาฯ ทันวันนี้ พร้อมกล่าวย้ำว่า วันนี้เพื่อมาติดตามหลังลงพื้นที่มาเมื่อวันที่ 28 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา โดยมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมด้วย ทั้งฝ่ายความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ โดยเรื่องแรกได้พูดถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นที่น่ายินดีว่าจุดความร้อนลดลง โดยช่วงเวลาเดียวกันจาก 50 กว่า เหลือ 10 กว่า ถือเป็นการเริ่มต้นปีด้วยดี แสดงว่าการที่เราลงพื้นที่ร่วมมือทำงานแบบบูรณาการ โดย ผู้ว่าฯเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าทีม ในการประสานทุกภาคส่วน จึงทำให้ค่าฝุ่นลดลงอย่างมีนัย 

ส่วนเรื่องการเผาป่า นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า ภายใต้การนำของ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ ดูแลกันได้ดีมาก จึงทำให้จุดความร้อนลดลงไป แต่เราไม่ได้อยู่คนเดียว โดยมีประเทศเพื่อนบ้านทางกัมพูชา รวมถึง สปป.ลาว เมียนมา โดยเมียนมากับลาวปัญหาน่าจะมาหนักประมาณเดือนมีนาคมและเมษายน จึงต้องอาศัยการพูดคุยของกระทรวงการต่างประเทศ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สปป.ลาว มีความสัมพันธ์ที่ดี จึงเป็นไปด้วยดี แต่ทางเมียนมาค่อนข้างอาจจะซับซ้อน แต่ยังมีระยะเวลาอีกประมาณเดือนครึ่ง โดยจะให้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงการเผาป่าจากชายแดนเมียนมาก็เป็นปัญหาสำคัญ แต่สำคัญกว่านั้น เดือนนี้และเดือนหน้าเป็นฤดูเผาป่าของทางด้านกัมพูชา เห็นได้จากแผนที่ ที่โชว์ค่าจุดความร้อน ซึ่งวันนี้ตนเองจะนำข้อมูลมาดู และช่วงบ่ายนี้จะพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพราะเรามีความสัมพันธ์ที่ดีและท่านเองก็มีความเป็นห่วงเป็นใยในเรื่องนี้พอสมควร

ส่วนเรื่องทรัพยากรในการดูแลไฟป่า นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ยังเป็นประเด็นสำคัญที่มีงบประมาณขาดแคลนจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งตนเองได้ทราบนโยบายโดยจะต้องมีการจัดซื้อจัดจ้าง บูรณาการอุปกรณ์เพิ่มมากขึ้น แต่ต้องใช้เวลา เพราะการจะสั่งซื้อเครื่องบินต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งถึงสองปีเป็นต้นไป แต่ในปัจจุบันได้มีการพูดคุยและขอร้องให้แม่ทัพภาคที่ 3 ดูแลพูดคุยกับผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารอากาศ หากมีเครื่องบินหรืออุปกรณ์ที่อาจจะยังไม่ได้ใช้หรือใช้น้อยให้เราปรับปรุงนิดหน่อยแล้วมาใช้ ได้ในแง่ของการปล่อยน้ำหรือทำฝนหลวงได้หรือไม่ เพราะหากช่วยเหลือกันได้ก็จะเป็นการทำงานที่ครบวงจร เป็นการทำงานทีมไทยแลนด์อย่างแท้จริง กอ.รมน. ก็สามารถช่วยได้อยู่แล้ว เพราะทำอยู่แล้วในแง่ของไฟป่า