กมธ.ชงรัฐบาลเปิดทางขึ้น "เขาพระวิหาร"

2024-01-11 17:15:31

กมธ.ชงรัฐบาลเปิดทางขึ้น "เขาพระวิหาร"

Advertisement

กมธ.ต่างประเทศชงรัฐบาลเปิดทางขึ้น "เขาพระวิหาร" ฟื้นท่องเที่ยว ฝ่ายความมั่นคงพร้อมสนับสนุนภายใต้การทำหน้าที่รักษาอธิปไตยชาติ 

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 67 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายนพดล ปัทมะ เป็นประธาน มีวาระพิจารณาเรื่องการเปิดทางขึ้นชมปราสาทพระวิหาร อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ โดยเชิญหน่วยงาน ประกอบด้วย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เจ้ากรมแผนที่ทหาร แม่ทัพภาคที่ 2เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผวจ. ศรีสะเกษ เข้าร่วมชี้แจง  ทั้งนี้ พ.อ.ไชยณรงค์ ปุยอรุณ ผอ.กองเขตแดนระหว่างประเทศ กรมแผนที่ทหาร ชี้แจงเรื่องเส้นเขตแดนแต่เป็นเรื่องการเจรจากันต่ออยู่ที่ความพร้อมใจของทุกฝ่ายว่า ในการทำหน้าที่ได้สนับสนุนข้อมูลทำหลักเขตแดนร่วมไทยกัมพูชา (JBC ) ปัจจุบันมีการสำรวจและซ่อมแซมหลักปฏิบัติงานเดิม 73 หลัก โดยที่จ.ศรีสะเกษและอุบลราชธานี ไม่มีการสร้างหลักเขตแดน ซึ่งกรมแผนที่ทหารจึงยังไม่ได้เข้าทำงานพื้นที่นี้ร่วมกับกัมพูชา ส่วนเรื่องการเปิดประตูรั้ว ใกล้เขาพระวิหาร มีการสนับสนุนข้อมูลให้ภายใต้การเจรจาภายใต้คำพิพากษาศาลโลก

"โดยจุดที่เป็นประตูรั้วอยู่ใกล้ห้วยตานี หากพิจารณาตามแผนที่ L7018 ยังเป็นเส้นตามมติ ครม. ปี 2505 ดูยังไม่ใช่แนวเขตที่เจรจาร่วมกัน แต่ในการปฏิบัติงานยังคงยึดถือแผนที่นี้" พอ.ไชยณรงค์ กล่าว

ส่วนนายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ในอดีตเคยรับประชาชนเข้าเยี่ยมชมปราสาทเขาพระวิหาร แต่มีการปิดเมื่อเดือน มิ.ย.2551 จนถึงปัจจุบัน โดยมีความพยายามที่จะเปิดปราสาทพระวิหาร โดยจะเริ่มวันที่ 19 ม.ค. 66 ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ลงพื้นที่เพื่อสอบถามความเห็น โดยหน่วยงานเห็นว่าเป็นเรื่องของนโยบายส่วนกลางจะพิจารณาส่วนระดับพื้นที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน จึงเสนอให้รัฐบาลทั้งสองประเทศพิจารณาเปิดประตูเหล็กเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว หน่วยงานระดับอำเภอมีการประชุม 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 28 ก.พ.66 และวันที่ 8 พ.ย. 66 มติที่ประชุมเห็นในทางเดียวกัน เห็นชอบคำขอเสนอให้รัฐบาลไทยและกัมพูชา พิจารณาเปิดประตูเหล็ก เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว กับประชาชนในพื้นที่ นี่คือการประชุมระดับ อ.กันทรลักษณ์  

นายอนุพงศ์ กล่าวต่อว่า ส่วนภาคเอกชนมีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) วันที่ 5 ก.ย. 66 มีความเห็นว่าจะขอกดดันผ่านหอการค้าส่วนกลางเพื่อให้ร่วมขับเคลื่อนให้เปิดเขาพระวิหารเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจ นอกจากนั้นยังมีการประชุมเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2566 ที่จ.ศรีสะเกษ โดย กรอ. เสนอหอการค้าส่วนกลางแล้วด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นในส่วนคนพื้นที่และภาคเอกชนเห็นสอดคล้องไปในทางเดียวกัน ประสงค์ขอให้ทางรัฐบาลร่วมมือกับกัมพูชาเพื่อขอเปิดเข้าพระวิหาร เพื่อการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว ระหว่าง 2 ประเทศ

นายอนุพงศ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ รมว.กลาโหม ได้ลงพื้นที่มาแล้ว และตอบกลับที่จะนำประเด็นดังกล่าวมาขับเคลื่อนในส่วนกลาง สนับสนุนให้มีการเปิดเขาพระวิหาร รวมถึง รมว.มหาดไทยที่ได้แจ้งกับทางจังหวัดว่าให้การสนับสนุนเพื่อดำเนินนายกรัฐมนตรี ต่อยอดหลังจากที่นายกได้ไปเยือนกัมพูชา สุดท้ายทางจังหวัดยังมีข้อเสนอให้เปิดจุดผ่อนปรนการท่องเที่ยว ช่องทางการขึ้นของพระวิหารในอ.กันทรลักษณ์ เป็นการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ศิลปะ วัฒนธรรมการท่องเที่ยว โบราณสถาน ซึ่งทุกฝ่ายพร้อมดำเนินการขับเคลื่อนในเรื่องนี้

ขณะที่พล.ต.พรชัย มาหลิน รองแม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวว่า ฝ่ายทหารมีความเข้าใจเห็นด้วยในการพัฒนาพื้นที่ชายแดน และส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ในฐานะกองทัพบกเป็นกลไกหนึ่งของรัฐ ขณะเดียวกันมีหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชาติ ซึ่งในการรักษาอธิปไตยจะยึดถือแผนที่จากทางการหรือแผนที่ที่จัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร หรือ แผนที่ 1 : 5 หมื่นเป็นเครื่องมือที่หน่วยจะต้องดำเนินการ ในการปกป้องอธิปไตยของชาติ แต่ในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในพื้นที่เส้นเขตแดน เขาบริหารจึงประเด็นอ่อนไหว ด้วยเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในขั้นต้น ในการใช้ประโยชน์ พื้นที่ร่วมกัน

ทั้งนี้มีรายงานในช่วงแรกของการประชุม นายนพดลเปิดใจถึงการต่อสู้คดีเขาพระวิหาร และทำให้ถูกฟ้องคดีทางการเมืองซึ่งมีความอัดอั้นตันใจมาตลอด 7 ปี อย่างไรก็ตามไม่ได้มีการอนุญาตให้สื่อมวลชนนั่งฟังตลอดการพิจารณาในวาระดังกล่าว