"สมศักดิ์"หารือผู้แทนมาเลย์พูดคุยดับไฟใต้ (มีคลิป)

2024-01-11 01:00:22

"สมศักดิ์"หารือผู้แทนมาเลย์พูดคุยดับไฟใต้ (มีคลิป)

Advertisement

"สมศักดิ์"หารือผู้แทนมาเลเซียเดินหน้าพูดคุยดับไฟใต้ "ฉัตรชัย"ยันสานต่อแผน "เจซีพีพี"  หวังคลอดข้อตกลงสันติสุขภายใน ธ.ค.67

เมื่อวันที่ 10 ม.ค.67   ที่ทำเนียบรัฐบาล  ศ.พล.อ.ตันศรี ดาโต๊ะซุลกิฟลี ไซนัล อะบิดิน  ผอ.ความสะดวกการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากประเทศมาเลเซีย ได้เข้าพบและหารือกับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ที่ตึกนารีสโมสร โดยมีนายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมหารือด้วย ทั้งนี้ การเข้าพบดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 45 นาที

 นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นการมาพบปะทำความเข้าใจหลังจากฝ่ายมาเลเซียได้แต่งตั้งให้ พล.อ.ตันศรี ซุลกิฟลี เป็นผู้อำนวยความสะดวกฯ คนใหม่ ขณะที่ฝ่ายไทยได้แต่งตั้งนายฉัตรชัย เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ คนใหม่เช่นกัน อีกทั้งนายกรัฐมนตรีของไทยและมาเลเซียได้พบปะกันหลายครั้งแล้ว ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตนติดตามงานด้านการพัฒนาและด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย สำหรับการหารือในวันนี้ (10 ม.ค.) ได้พูดคุยกันหลายเรื่อง รวมถึงการเน้นย้ำความร่วมมือสร้างการพัฒนาและการสร้างอาชีพให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีรายได้ ซึ่งจะช่วยให้การพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขทำได้ง่ายขึ้น โดยฝ่ายไทยอยากดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้เร็วขึ้น เพราะรัฐบาลมีเวลาทำงานเหลืออยู่ประมาณ 3 ปีกว่า

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการฟ้องร้องปิดปากนักกิจกรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมกว่า 40 คดี และเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการดำเนินคดีดังกล่าวด้วย นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กรณีที่มีการบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วต่อมามีพื้นที่บางส่วนปรับเปลี่ยนมาใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 นั้นเป็นการเปิดทางให้หลายเรื่องทำได้ง่ายขึ้น เรื่องใดที่เป็นรายละเอียดเราก็ต้องลงไปแก้ในรายละเอียด แต่เรื่องการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพียงแค่ฝ่ายไทยและมาเลเซียทำหลักการให้ชัดเจน และดำเนินการตามมาตรา 21 แห่งพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ก็จะทำให้ทุกอย่างมีความชัดเจน และจะทำให้เดินไปสู่จุดจบได้ง่ายขึ้น


ต่อข้อถามว่าการพูดคุยเพื่อสันติสุขรอบใหม่จะเกิดขึ้นได้เมื่อใด นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่รู้ โดยตอนนี้แต่ละฝ่ายกำลังต้องเตรียมตัวเตรียมใจดำเนินการงานต่างๆ ให้รวดเร็ว ซึ่งไทยและมาเลเซียต้องจับมือกันเร่งพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน

ด้านนายฉัตรชัย กล่าวว่า การพบปะหารือครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากผู้อำนวยความสะดวกฯ จากมาเลเซียเดินทางมาเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 8-10 ม.ค. 2567 เพื่อมาพูดคุยกับหน่วยงานภาครัฐของไทยและร่วมกำหนดแนวทางการทำงาน ทั้งนี้ พล.อ.ตันศรี ระบุว่ากรณีที่คณะพูดคุยฯ ของฝ่ายไทย จะเดินทางไปยังมาเลเซียนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นเดือนก.พ.นี้ ส่วนฝ่ายไทยยืนยันว่าจะสานต่อแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (เจซีพีพี) ที่ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าพูดคุยฯ คนที่แล้ว ได้ดำเนินการไว้ตั้งแต่เดือน ก.พ.2566 ซึ่งขณะนี้ฝ่ายไทยจะพิจารณาดำเนินแผนดังกล่าวในเดือนม.ค.นี้ และอยากให้มีการรับรองแผนดังกล่าวให้ได้ภายในเดือนเม.ย.2567 ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนเรื่องของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เดินหน้าได้เร็วขึ้น ขณะที่ พล.อ.ตันศรีจะต้องไปหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องของฝ่ายมาเลเซียว่าเขามีความพร้อมหรือไม่อย่างไร

นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ร่างแผนเจซีพีพีมี 3 ส่วนสำคัญ คือ 1.การลดความรุนแรงและลดการเผชิญหน้า 2.การเปิดเวทีปรึกษาหารือสาธารณะ และ 3.การแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยแผนนี้ได้กำหนดรายละเอียดกิจกรรมและขั้นตอนต่างๆ ไว้จำนวนมาก รวมถึงได้คาดหวังเป้าหมายว่าจะต้องทำให้ทุกส่วนกลับคืนสู่สภาวะปกติที่จะนำไปสู่การสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้  นอกจากนี้ ในเบื้องต้น คณะเราคาดหวังว่าจะมีข้อตกลงสันติสุขออกมาให้ได้ภายในเดือนธ.ค.2567 หรืออย่างน้อยในต้นปี 2568 แต่ขึ้นอยู่กับกระบวนการ สภาพแวดล้อม และปัจจัยต่างๆ ซึ่งถ้าฝ่ายมาเลเซียมีความพร้อมและให้ความร่วมมือ เราก็เชื่อว่าทุกอย่างจะดำเนินการได้รวดเร็ว

เมื่อถามว่า แสดงว่าฝ่ายไทยยังเดินหน้าตามแผนเจซีพีพีที่ทำไว้กับกลุ่มบีอาร์เอ็นใช่หรือไม่ นายฉัตรชัย กล่าวว่า เราจะดำเนินการแผนนี้ต่อไป โดยกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ที่จริง เราต้องเน้นที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นส่วนสำคัญ จึงนำไปสู่การเปิดเวทีปรึกษาหารือสาธารณะ เพื่อให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วม เพราะเป็นเรื่องที่คนไทยด้วยกันต้องมาร่วมหาข้อสรุปในการขับเคลื่อนเรื่องการแก้ปัญหาในพื้นที่นี้ เพียงแต่ระหว่างนี้มีประเด็นเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจ จึงทำให้ต้องมีฝ่ายมาเลเซียมาเป็นผู้อำนวยความสะดวกสร้างเวทีการพูดคุยเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในพื้นที่นี้ โดยเราใช้เวลามานานหลายปีในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อให้ฝ่ายผู้เห็นต่างทุกส่วนมีความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยมีความจริงใจที่อยากแก้ปัญหา ตนขอย้ำว่าเราพร้อมพูดคุยกับผู้เห็นต่างทุกกลุ่มและประชาชนในพื้นที่ทั้งในเวทีเปิดทั่วไป หรือเวทีเฉพาะที่อาจพูดคุยในประเด็นที่ละเอียดอ่อน

ต่อข้อถามว่า จากกรณีการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมในการจัดงานแต่งกายชุดมลายู คณะพูดคุยฯ จะมีข้อเสนอแนะอะไรต่อรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ เพราะการดำเนินคดีดังกล่าวอาจมีผลกับการพูดคุยสันติสุข นายฉัตรชัย กล่าวว่า ข่าวที่ออกมาอาจเป็นความเข้าใจผิด เพราะที่จริงไม่มีการห้ามแต่งกายชุดมลายู เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ซึ่งทุกส่วนสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ ส่วนกรณีที่มีการกระทำผิดบางส่วน ก็เป็นเรื่อง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ แต่ตนเชื่อว่ากระบวนการทั้งหมดคงต้องมีการพูดคุยเป็นการภายในด้วยเพื่อหาจุดที่ลงตัวและเหมาะสม ส่วนเรื่องกระบวนการทางกฎหมายก็ต้องว่ากันไป ส่วนเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ในภาพใหญ่ยังดำเนินการต่อไป เพราะยังมีประชาชนในพื้นที่อีกหลายส่วนที่ต้องการให้ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว รวมถึงประชาชนในหลายภาคส่วนและขบวนการผู้เห็นต่าง