"แพทองธาร"ร่วมคิกออฟ "30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว"

2024-01-08 09:49:29

"แพทองธาร"ร่วมคิกออฟ "30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว"

Advertisement

"แพทองธาร"ร่วมคิกออฟโครงการ "30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว" แนะหากไม่มีสมาร์ทโฟน นำบัตรประชาชนไปยืนยันตัวตนได้  ไม่ต้องกังวลฐานข้อมูลรั่วไหล

เมื่อวันที่ 7 ม.ค.67 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ร่วมพิธีเปิดกิจกรรม Kick Off โครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่  ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการดำเนินนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว  อย่างเป็นทางการครั้งแรกที่จังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมกับอีก 3 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี และนราธิวาส ณ ลานสาเกตนคร  อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว  รมว.สาธารณสุขและ ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ส.ส. พรรคเพื่อไทยและพี่น้องประชาชน 10,101 คนเข้าร่วม Kick Off โครงการนี้


น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า วันนี้จะเป็นอีกหนึ่งวันประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เพราะระบบสาธารณสุขไทยได้รับการยกระดับให้ทันสมัย ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาจัดการข้อมูล เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานทำให้ระบบสาธารณสุขไทยดียิ่งขึ้น และพี่น้องประชาชนจะได้รับบริการที่ดีมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเข้าถึงง่ายมากขึ้น ซึ่งนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค มีมากว่า 22 ปีแล้วโดยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่นำโดยอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ และถึงเวลาแล้วที่เราจะพัฒนานโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ให้เป็น ‘30 บาทรักษาทุกที่’ สร้างระบบสาธารณสุขของไทยให้ดียิ่งขึ้น มีบริการที่ดี ทั่วถึง รวดเร็วและทันสมัยมากยิ่งขึ้น

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ในอดีตรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เริ่มต้นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่จังหวัดนำร่อง ภายหลังจัดตั้งรัฐบาลได้เพียง 2 ปี หลังจากนั้นก็ทยอยทำจนครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ และในวันนี้รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้เริ่มต้นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ นำร่อง 4 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด แพร่ เพชรบุรีและนราธิวาสและหลังจากนี้จะมีการดำเนินนโยบายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งพี่น้องประชาชนจะไม่ต้องเสียเวลาไปรักษาที่โรงพยาบาลตามทะเบียนบ้าน ไม่ต้องรอรับยานานเกินไป การตรวจเลือด ซักประวัติ วัดความดันก่อนพบแพทย์ก็สามารถทำได้เลยที่สถานีอนามัยหรือคลินิกใกล้บ้านเครือข่ายของ สปสช. และบางกรณีก็ไม่จำเป็นต้องมาที่โรงพยาบาลเพราะสามารถพบแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ เมื่อรับยาไปแล้วก็สามารถปรึกษากับเภสัชกรผ่านออนไลน์ได้เช่นเดียวกัน รวมไปถึงการนัดออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม

"เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่านโยบายนี้จะสามารถเปลี่ยนชีวิตของพี่น้องประชาชนได้ตลอดกาลเหมือนที่เคยทำได้มาแล้วจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคเคยทำมาแล้ว ซึ่งเมื่อ 22 ปีที่แล้วเราเริ่มนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคในวันที่ 8 เม.ย. ในวันนี้ 7 ม.ค.67 ซึ่งผ่านมาแล้ว 22 ปีแล้ว เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปจะช่วยให้นโยบายของเราพัฒนาและแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาสานต่อโครงการที่ดีมากๆ อยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตอบโจทย์พี่น้องประชาชนตามยุคสมัยมากขึ้น” รองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ กล่าว

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ขอขอบพระคุณผู้ที่ผลักดันและสร้าง 30 บาทรักษาทุกโรคในอดีต คือ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมช.สาธารณสุข และที่สำคัญคือการผลักดันอย่างเต็มที่ของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่ทำให้ประเทศไทยมีโครสร้างหลักประกันสุขภาพที่ดี ซึ่งขณะนั้นเมื่อได้มีการเสนอนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคไป ก็มีหลายวาทกรรมและหลายข้อครหาซึ่งไม่เข้าใจความตั้งใจของเรา แต่วันนี้ทุกท่านได้เห็นแล้วว่า 30 บาทรักษาทุกโรคได้เปลี่ยนชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้นได้จริงๆ นั่นแปลว่านโยบายที่ดีสามารถเปลี่ยนชีวิตเราทุกคนได้จริงๆ วันนี้รัฐบาลชุดนี้เข้ามารับไม้ต่อทำให้ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็น 30 บาทรักษาทุกที่ และเราจะไม่หยุดพัฒนานโยบายที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นต่อไป


น.ส.แพทองธาร  ให้สัมภาษณ์ว่า ถือเป็นความภาคภูมิใจ อย่างมาก เพราะเป็นนโยบายที่ต่อยอดมาจากนโยบายสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า นโยบายที่ดีสามารถทำให้ชีวิตของประชาชนมีความกินดีอยู่ดีขึ้น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคเรามีมา22 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยพรรครักไทยรักไทย คนก็ยังใช้อยู่ แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ต้องการปรับให้สามารถใช้ให้ดีขึ้นโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนให้การเก็บข้อมูลรวบรวมข้อมูลเป็นระบบมากขึ้น สมควรแก่เวลาที่จะปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องบางอย่าง ทำให้ดีขึ้น ทำให้ประชาชนสะดวกต่อการใช้มากขึ้น ต้องยกระดับให้ดีที่สุด  4 จังหวัดนำร่องมีการเตรียมพร้อมข้อมูลมากที่สุด ในการดำเนินการ ขณะเดียวกันก็มีระบบป้องกันข้อมูลส่วนตัวของคนไข้ มีระบบยืนยันตรวจสอบ ข้อมูลผู้ป่วยที่รัดกุม ไม่ให้รั่วไหล ส่วนข้อกังวลของประชาชนบางกลุ่ม ที่อาจไม่ได้มีสมาร์ทโฟนเพื่อที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันหมอพร้อมเพื่อมาใช้บริการได้นั้น ก็สามารถใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวไปยืนยันตัวตน ที่โรงพยาบาลได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้มือถือ

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า นโยบายนี้มีการยกระดับ นำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาสนับสนุนเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของประชาชน จึงเปิดนำร่อง 4 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด แพร่ เพชรบุรี และนราธิวาส และเริ่มคิกออฟในร้านยาเภสัชเอกชน โรงพยาบาลชุมชน แลบตรวจเลือด รวมถึงสหคลินิก คลินิกทันตกรรมและเวชกรรม