วุ้นตาเสื่อม

2024-01-05 10:37:53

วุ้นตาเสื่อม

Advertisement

วุ้นตาเสื่อม

วุ้นตาเสื่อม นับว่าเป็นภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงของวุ้นตาที่ส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นโดยไม่มีอันตรายหรือเกิดขึ้นแล้วอาจมีโรคของจอประสาทตาที่ร้ายแรงตามมา และอาจทำให้ตาบอดหากไม่ได้รับการรักษา

วุ้นตา (vitreous)

วุ้นตาเป็นเจลใส ๆ อยู่ระหว่างเลนส์ตาและจอประสาทตา มีหน้าที่เป็นตัวกลางให้แสงและภาพผ่านเข้าไปสู่จอประสาทตาได้  วุ้นตาจะประกอบไปด้วยน้ำร้อยละ 95-98 และเส้นใยคอลลาเจนร้อยละ 2-5

-น้ำในวุ้นตาจะมีการไหลเวียนเข้าและออก ซึ่งสร้างโดยการกรองจากเลือดโดยพื้นที่เฉพาะเล็ก ๆ ในดวงตา และดูดซึมออกตลอดเวลา โดยมีสมดุลของการสร้างเข้าและระบายออกอยู่เพื่อปรับความดันของตาให้คงที่

-เส้นใยคอลลาเจนในวุ้นตา ในเด็กและวัยรุ่นจนถึงวัยกลางคนตอนต้น จะเป็นเส้นใยบางละเอียดมากเรียงอยู่อย่างเป็นระเบียบ แนบติดกับจอประสาทตาด้านใน

การเสื่อมของวุ้นตา จะมี 2 ระยะคร่าว ๆ คือ

ระยะเริ่มต้น มีการเสื่อมสภาพของเส้นใยคอลลาเจนในวุ้นตา เส้นใยคอลลาเจนขนาดเล็ก ๆละเอียดจะขาดเป็นท่อน หดตัวจับกันเป็นก้อน ทำให้เกิดเป็นตะกอนในวุ้นตา เมื่อมีตะกอนเหล่านี้และมีสถานการณ์ที่เหมาะสมจะเห็นเงาของก้อนตะกอนเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับการกลอกตา สถานการณ์ที่ทำให้สังเกตเห็นง่าย คือมองพื้นที่กว้าง ๆ สว่าง ๆ เช่นท้องฟ้า กำแพงสีขาว โต๊ะสีขาว เมื่อกลอกตาไปมาทำให้วุ้นตามีการเคลื่อนตัวไปมา

ระยะวุ้นตาแยกตัวจากจอประสาทตา ระยะนี้อาจเกิดภายในไม่กี่วันหรือหลายเดือน หรือหลายปีหลังจากระยะแรก เมื่อเส้นใยคอลลาเจนของวุ้นตาหดตัวลง ปริมาตรส่วนที่เป็นเส้นใยคอลลาเจนจะหดตัวลงและแยกตัวออกจากจอประสาทตา คนส่วนใหญ่การแยกตัวของผิววุ้นตาออกจากจอประสาทตา จะเกิดขึ้นโดยไม่มีปัญหา แต่คนส่วนน้อยจะมีบางบริเวณที่วุ้นตาเกาะยึดกับจอรับภาพแน่นเกินไป เมื่อวุ้นตาหดตัวจะเกิดแรงดึงรั้งขึ้นที่จอประสาทตา ทำให้เกิดจอประสาทตาฉีกขาดตามมา ปัญหาจอประสาทตาฉีกขาดนี้ หากไม่ได้รับการรักษาด้วยเลเซอร์ อาจเกิดจอประสาทตาหลุดลอกขึ้น ซึ่งต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อป้องกันไม่ให้จอประสาทตาทั้งหมดเสื่อมสภาพและตาบอดไป

ปัจจัยที่ทำให้วุ้นตาเสื่อม

อายุที่เพิ่มมากขึ้น เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น เส้นใยคอลลาเจนจะเสื่อมสภาพ (ลักษณะเดียวกับการเสื่อมสภาพของคอลลาเจนใต้ผิวหนัง ทำให้ผิวเหี่ยวย่น ขาดความยืดหยุ่นไป)

สายตาสั้น  ผู้ที่สายตาสั้น มักมีขนาดลูกตาที่ยาว เมื่อกลอกตาในชีวิตประจำวันวุ้นตาจะมีการแกว่งตัวมากกว่าผู้มีขนาดลูกตาปกติ ซึ่งอาจมีผลทำให้เส้นใยคอลลาเจนเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น

อุบัติเหตุที่ดวงตา หากดวงตาถูกกระทบอย่างรุนแรง เช่น โดนลูกเทนนิส ลูกบอล ชกต่อย หรือหกล้ม อาจทำให้มีวุ้นตาเสื่อมเร็วกว่าการเสื่อมตามธรรมชาติ ทำให้มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดจอประสาทตาฉีกขาดหรือหลุดลอกตามมา

ภาวะเบาหวานขึ้นตา เบาหวานทำให้เส้นเลือดขนาดเล็กเกิดการเปราะ แตก รั่วซึม อุดตัน ได้ง่าย ผู้ป่วยที่มีเบาหวานขึ้นตา จึงอาจมีเลือดออกในวุ้นตาจากการแตกตัวของเส้นเลือดที่จอประสาทตา เหนี่ยวนำให้เกิดภาวะวุ้นตาเสื่อมได้อย่างรวดเร็ว 

อาการของวุ้นตาเสื่อม

-มองเห็นจุด เส้น หรือหยากไย่ ลอยไปมาตามการกลอกตาในที่สว่าง

-เห็นแสงคล้ายแฟลช เมื่อกลอกตาในเวลากลางคืนหรือเมื่ออยู่ในที่มืด การเห็นแสงแฟลช หมายถึงมีแรงดึงรั้งซึ่งเป็นแรงกลกระทำต่อจอประสาทตา (ในลักษณะเดียวกับการโดนชกตาแล้วตาพร่า เห็นดาว) การมีแสงแฟลชบ่อย ๆ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาฉีกขาดหรือหลุดลอกได้มาก

วิธีป้องกัน

-ป้องกันการถูกกระทบกระเทือนทางดวงตา เพื่อลดความเสี่ยงวุ้นตาเสื่อม ทุกคนที่มีกิจกรรมเสี่ยง เช่น การเล่นกีฬาปะทะ ทำงานในพื้นที่เสี่ยง ควรสวมแว่นป้องกันและระมัดระวังไม่ให้ดวงตาได้รับการกระทบกระเทือน

-หากมีเบาหวาน ควรตรวจตาครั้งแรกเมื่อทราบว่าเป็นเบาหวาน เพื่อค้นหาภาวะโรคตาจากเบาหวาน เช่น ต้อกระจกก่อนวัย เบาหวานขึ้นจอประสาทตา และภาวะวุ้นตาเสื่อม

สิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อเห็นเส้นใยลอยไปมา

-หากอายุเกิน 40 ปีและไม่เคยตรวจตามาก่อน ควรตรวจตาเพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคตาต่าง ๆ เมื่อแพทย์ตรวจแล้วจะนัดหมายตรวจซ้ำหรือแนะนำให้ตรวจครั้งต่อไป ระยะเวลาขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่ตรวจพบในขณะนั้น

-หากมีอาการที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคจอประสาทตา 1 ใน 3 ข้อต่อไปนี้ ควรตรวจตาก่อนนัดหมาย

-สังเกตได้ว่าตะกอนที่ลอยไปลอยมา เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

-มีแสงฟ้าแลบหรือแสงแฟลชร่วมด้วย โดยเฉพาะเมื่อเห็นแสงแฟลชบ่อย วันละหลายสิบครั้ง

-มีภาวะตามัวลง โดยเฉพาะมัวคล้ายมีม่านบังด้านใดด้านหนึ่ง

วิธีการรักษาวุ้นตาเสื่อม

-หากมีตะกอนในวุ้นตาไม่มากนัก แค่สร้างความรำคาญไม่มีความจำเป็นต้องรักษา เนื่องจากบ่อยครั้งที่ตะกอนจะลดลงได้เองโดยไม่ต้องรักษาเพิ่มเติม

-หากมีจอประสาทตาบาง ฉีกขาดร่วมด้วย แพทย์จะรักษาด้วยการฉายเลเซอร์เพื่อลดโอกาสเกิดโรคจอประสาทตาหลุดลอกซึ่งทำให้ตาบอดได้

-หากเริ่มมีจอประสาทตาหลุดลอกแล้ว แพทย์จะแนะนำวิธีรักษาด้วยการผ่าตัด

การใช้หรือไม่ใช่จอคอมพิวเตอร์ มือถือ ไม่มีผลเร่งหรือกระตุ้นภาวะวุ้นตาเสื่อม รวมไปถึงการทานวิตามิน ยาบำรุง หรืออาหารบำรุงสายตา โดยไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือจะไม่สามารถป้องกันหรือรักษาภาวะวุ้นตาเสื่อมได้ 

อ.นพ.ณวัฒน์ วัฒนชัย

สาขาวิชาน้ำวุ้นตาและจอประสาทตา ภาควิชาจักษุวิทยา

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล