"ชนินทร์"ลุยสุรินทร์เร่งแก้ปัญหาที่สาธารณะทับซ้อนที่ดินทำกิน

2024-01-05 04:30:00

 "ชนินทร์"ลุยสุรินทร์เร่งแก้ปัญหาที่สาธารณะทับซ้อนที่ดินทำกิน

Advertisement

"ชนินทร์"ลุยสุรินทร์เร่งแก้ปัญหาที่สาธารณะทับซ้อนที่ดินทำกิน ส่งต่อสิทธิบนที่ดินให้ลูกหลาน

เมื่อวันที่ 4 ม.ค.67 นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวถึงการลงพื้นที่ จ.สุรินทร์ เพื่อตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาที่ดินทำกินของประชาชน และการบริหารจัดการน้ำภายในจังหวัดว่า ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของพี่น้องประชาชนเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาก การเดินทางมาครั้งนี้ ตนได้รับมอบหมายจากรองนายกภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ให้ลงมารับฟังปัญหาจากพี่น้องประชาชนโดยตรงและเร่งรัดการดำเนินการแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ทั้งนี้ในพื้นที่ตำบลบ้านแร่ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ พบปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของราษฎรทับซ้อนกับที่สาธารณะที่ประกาศเป็นทําเลเลี้ยงสัตว์บ้านบึง พื้นที่ประมาณ 900 ไร่ ส่งผลให้การออกเอกสารสิทธิให้พี่น้องปนะชาชนไม่สามารถทำได้ ทั้งที่กายภาพตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันเป็นที่นามายาวนานหลายสิบปี ไม่ได้ถูกใช้เพื่อการสาธารณะอย่างที่มีประกาศไว้


นายชนินทร์ กล่าวต่อว่า จากการประชุมหารือร่วมกับรอง ผวจ.สุรินทร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุรินทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตําบลบ้านแร่ และผู้แทนหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เล็งเห็นปัญหาลักษณะนี้มิใช่เพียงในจังหวัดสุรินทร์ แต่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เหตุเพราะในอดีตการประกาศพื้นที่ต่างๆไม่ได้มีการทำงานและฐานข้อมูลที่บูรณาการกัน จึงเกิดเหตุการให้สิทธิในการใช้ประโยชน์ทับซ้อน ที่ประชุมจึงเสนอให้ใช้พื้นที่นี้นำร่องกรณีศึกษาเพื่อหา “แนวทางแก้ปัญหาที่ดินสาธารณะทับซ้อนกับที่ดินทำกิน” โดยมอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารายละเอียดและจัดทำข้อเสนอมาตรการ เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ภายในกรอบระยะเวลา 3 เดือน เพื่อให้เกิดเป็นข้อสรุปเชิงนโยบายในการปรับใช้กับกรณีลักษณะนี้ในพื้นที่อื่นๆต่อไป รัฐบาลมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาที่ดินทำกินอย่างมาก เนื่องจากเป็นปัจจัยพื้นฐานในการสร้างอาชีพของพี่น้องประชาชน หากการแก้ปัญหาการกระจายกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดินทำได้สำเร็จ จะเป็นการส่งเสริมให้คนรุ่นลูกรุ่นหลาน กลับไปลงพัฒนาท้องถิ่นในที่ดินทำกินของตน สร้างอาชีพ ต่อยอดการลงทุน และเป็นรากฐานของการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นได้