ศาลหลักเมือง “อยุธยา” มนต์ขลังก่อร่างสร้างเมือง

2018-03-18 11:40:22

ศาลหลักเมือง “อยุธยา” มนต์ขลังก่อร่างสร้างเมือง

Advertisement

กระแสฟีเวอร์ของละคร “บุพเพสันนิวาส” ที่กวาดเรตติ้งถล่มทลายทั้งแผ่นดิน แถมยังปลุกความสนใจของผู้คน ให้หันมาสนใจในวัฒนธรรมไทย และเรื่องราวประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยา ทำให้ผู้คนจำนวนมาก ทุกเพศทุกวัย เดินทางมาเยี่ยมชมโบราณสถานและสถานที่สำคัญ ที่ปรากฏในเรื่องราวความรักของ “คุณพี่หมื่น และ แม่นางการะเกด” 




มีอยู่สถานที่หนึ่ง ที่ไม่ได้ถูกระบุไว้ในบทละคร “บุพเพสันนิวาส” แต่ก็เป็นสถานที่สำคัญ เรียกได้ว่าเป็น “หัวใจ” ของชาวกรุงศรีอยุธยามาตั้งแต่อดีตกาลเลยก็ว่าได้ นั่นคือ “ศาลหลักเมือง” ที่นิว18 จะพาท่านไปสัมผัสมนต์ขลังของโบราณประเพณี อันเป็นที่มาของการก่อร่างสร้างเมืองเป็นราชธานี




ตามโบราณประเพณี “ศาลหลักเมือง” คือ คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่ตั้งของหลักเมือง ซึ่งตามธรรมเนียมพิธีของศาสนาพราหมณ์ว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น ศาลหลักเมืองในประเทศไทยส่วนใหญ่ทำจากไม้มงคล เช่น ชัยพฤกษ์ ราชพฤกษ์ ในลักษณะเสา ปลายยอดเป็นดอกบัวตูม หรือหน้าเทวดา หรืออาจเป็นหลักหินโบราณ ใบเสมาโบราณ





ความเชื่อในสมัยก่อนนั้น นิยมสร้างศาลหลักเมืองขึ้นเพื่อจุดประสงค์คือ เป็นที่รวมตัวประกอบพิธีกรรมต่างๆ เพื่อเป็นมิ่งขวัญ นิมิตมงคลแก่ประชาชน และเป็นสัญลักษณ์และเป็นจุดหลักบ้านหลักเมือง บ้านเมืองนั้นย่อมร่มเย็นเป็นสุข หลักเมืองต้องฝังไว้ในย่านกลางเมือง หรือในทำเลที่เป็นชัยภูมิ ตามทิศทางของเมือง และในสมัยโบราณนั้นเมืองเอกหรือเมืองชั้นราชธานี ย่อมมีฝังหลักเมืองไว้เป็นนิมิตมงคลสำหรับเมืองทุกเมือง



พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับกล่าวความต้องกันว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ( พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 พุทธศักราช 1893 ชีพ่อพราหมณ์ให้ฤกษ์ตั้งพิธีกลบบัตร ได้สังข์ทักษิณาวัฎใต้ต้นหมัน ใบหนึ่งสันนิษฐานว่าได้มีการสถาปนาหลักเมืองขึ้นในคราวเดียวกัน แต่ได้ปรักพังสูญไป ในคราวพุทธศักราช 2310 และมิได้สถาปนาใหม่ในสมัยกรุงธนบุรี ที่ตั้งของหลักเมืองเดิมนั้น จากหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์ และหลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดีบ่งว่า ตั้งอยู่ใกล้กับศาลพระกาฬและสี่แยกตะแลงแกง เนื่องในมหามงคลสมัยสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พุทธศักราช 2525 จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ดำริให้สร้างศาลหลักเมืองขึ้นใหม่ เพื่อเป็นสิริมงคลตามประเพณีโบราณที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา





ศาลหลักเมืองพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน เป็นสถาปัตยกรรมไทย มณฑปจตุรมุขทรงไทยรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่ออิฐฉาบปูนขาว มีประตูเข้า-ออกทั้ง 4 ด้าน ส่วนของอาคารศาลหลักเมืองมีบันไดขึ้นลงเพียง 3 ด้าน ด้วยมีการก่อสร้างอาคารที่ประทับไว้ทางด้านทิศตะวันตก หลังคาเป็นยอดปรางค์ประดับฝักเพกา (ลำภุขัน) มีลักษณะคล้ายวชิราวุธอันเป็นอาวุธของพระอินทร์นำมาซ้อนกัน 3 ชั้น

เสาหลักเมืองพระนครศรีอยุธยา ทำจากไม้มงคลชัยพฤกษ์ ยอดเสาแกะสลักเป็นรูปดอกบัวแก้วซ้อนกัน 7 ชั้น ส่วนของเสาหลักเมือง ฐานเสาสูงจากอาคารชั้นล่างขึ้นมาอาคารชั้นบนที่ทำกระจกแก้วครอบไว้อีกชั้นหนึ่ง

วิธีเดินทางไปศาลหลักเมืองอยุธยา ตั้งอยู่ที่ ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา






สถานที่ท่องเที่ยว ที่น่าสนใจอื่นๆ อาทิ เศียรพระพุทธรูป เก่าแก่ ที่วัดมหาธาตุ