ไตวายเรื้อรัง

2023-12-15 10:31:51

ไตวายเรื้อรัง

Advertisement

ไตวายเรื้อรัง  

โรคไตวายเรื้อรัง อีกหนึ่งโรคที่นับว่าเป็นภัยเงียบโดยจากการรายงานของ The United States Renal Data System (USRDS) 1 ใน 5 ประเทศ ที่มีผู้ป่วยโรคไตที่สูงที่สุด คือ ประเทศไทย ส่งผลให้ต้องมีการเฝ้าระวังโรคนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากไตวายเรื้อรังทำให้ไตมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง ไม่ว่าจะเป็นการรักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย การควบคุมน้ำและแร่ธาตุต่าง ๆ ในเลือด การกำจัดของเสียออกจากเลือด การกำจัดยาหรือพิษออกจากร่างกาย และการหลั่งฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด

ไตวายเรื้อรัง คืออะไร

เป็นการทำงานของไตที่มีความผิดปกติหรือเสื่อมลง หน้าที่ในการกำจัดของเสียออกจากเลือดและการกำจัดสารพิษออกจากร่างกายมีความบกพร่อง ไม่สามารถขับของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากกระแสเลือดได้ โดยภาวะไตวายเรื้อรังจะมีการทำงานที่ผิดปกติเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป หากปล่อยไว้นานไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่ภาวะไตวายระยะสุดท้ายได้

ภาวะไตวายเรื้อรัง ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยแสดงอาการ ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้เมื่อไม่ได้รับการรักษาจะทำให้ไตเสื่อมลงจนเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย อาจมีของเสียคั่งในกระแสเลือดและต้องรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไต เช่น การฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง

สาเหตุของโรคไตวายเรื้อรัง

ไตวายเรื้อรังเป็นภาวะที่ไตสูญเสียการทำงานทีละน้อยต่อเนื่องกันเกิน 3 เดือนหรือเป็นปี โดยคนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ผู้สูงอายุเกิน 60 ปี หรือคนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไต มีโอกาสที่จะเป็นโรคไตวายเรื้อรังสูง หากทำการรักษาไม่ถูกต้อง เช่น รักษาเบาหวานไม่ดี น้ำตาลสูง ความดันเลือดสูง รับประทานยาตามแพทย์สั่งไม่สม่ำเสมอ ทำให้ควบคุมโรคประจำตัวได้ไม่ดี มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตได้อีกด้วย

ผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย

-มีอาการอ่อนเพลีย อ่อนแรง อิดโรย เหนื่อยง่าย หงุดหงิดง่าย หรือบางรายอาจจะซูบผอมเนื่องจากน้ำหนักที่ลดลง

-ตัวบวม ขาบวม ร่วมกับมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น

-ระบบผิวหนัง มีผิวหนังซีด มีจ้ำเลือดเกิดขึ้นง่าย ผิวหนังแตกแห้ง เป็นแผลแล้วหายช้า หรือบางรายจะมีผิวหนังตกสะเก็ดดำคล้ำกว่าปกติ

-ระบบทางเดินอาหาร มีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปากขม ไม่สามารถรับรสได้ สะอึก ปวดท้อง ท้องเดิน เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ และเป็นแผลในกระเพาะและลำไส้

-ระบบหัวใจและการหายใจ ถ้าไตทำงานได้น้อยลงจนขับปัสสาวะและเกลือแร่ไม่ได้ ทำให้มีอาการบวม หัวใจทำงานไม่ไหว เหนื่อยง่าย นอนราบแล้วหายใจลำบาก ความดันเลือดสูง หัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมสภาพ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ อาจเกิดภาวะน้ำคั่งในเยื่อหุ้มหัวใจ น้ำคั่งในปอด ปอดบวม ทำให้หายใจไม่ออก ไอเป็นเลือด

-ระบบประสาท สมอง และกล้ามเนื้อ มีอาการปลายประสาทเสื่อม ทำให้มือหรือเท้าชา ปวดหลังบริเวณบั้นเอว กล้ามเนื้อกระตุก เป็นตะคริวและกล้ามเนื้ออ่อนแรง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ขาดสมาธิ สมองเสื่อม

-ระบบกระดูก เนื่องจากไตสูญเสียหน้าที่ในการสังเคราะห์วิตามินดีทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ เกิดภาวะกระดูกพรุน แตกหักง่าย

-ระบบทางเดินปัสสาวะ จะทำให้ปัสสาวะบ่อย มีสีจางและปัสสาวะออกน้อยมาก

-ระบบโลหิต ฮอร์โมนที่ไปกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลง ทำให้มีภาวะเลือดจาง และการทำงานของเกล็ดเลือดผิดปกติ

-ระบบภูมิต้านทานโรค ภูมิต้านทานโรคต่ำ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ติดเชื้อได้ง่าย

-ระบบฮอร์โมนอื่น ๆ เช่น ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง ต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ฮอร์โมนจากรังไข่เพศหญิงทำให้ประจำเดือนผิดปกติ หรือฮอร์โมนจากลูกอัณฑะในเพศชายทำให้เป็นหมันและเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

โรคไตวายเรื้อรังต้องรักษาอย่างไร ?

หากไตมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลงจะทำให้เกิด ไตฝ่อ เข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ แต่สามารถชะลอการเสื่อมของไตเพื่อลดโอกาสการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง โดยการรักษาจากแพทย์และปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม

-ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis) เป็นการนำเลือดที่มีของเสียคั่งค้างอยู่มาผ่านกระบวนการกรองเลือดเพื่อแยกของเสียออกจากเลือด จากนั้นค่อยนำเลือดที่ถูกกรองจนสะอาดใส่กลับคืนสู่ร่างกาย

-ล้างช่องท้องด้วยน้ำยา (CAPD) โดยจะใส่น้ำยา CAPD เข้าไปในช่องท้องครั้งละ 2 ลิตร ความถี่ 3-4 ครั้งต่อวัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วย

-ปลูกถ่ายไต (kidney transplantation) คือ วิธีรักษาโรคไตวายระยะสุดท้ายและให้ผลดีที่สุด

วิธีป้องกันไตวายเรื้อรัง

-การควบคุมโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

-ตรวจสุขภาพ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

-ตรวจปัสสาวะและตรวจเลือด

-เลี่ยงการกินอาหารรสเค็ม

-เลี่ยงการใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ยาแก้ปวด ชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยาชุด และยาหม้อ

-เลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น เจนตามัยซิน คานามัยซิน

-เลี่ยงการใช้สารทึบรังสีโดยไม่จำเป็น

-หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

-ลดอาหารที่มีไขมันสูง

-งดอาหารที่มีโซเดียมสูง

-ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ

-ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ปัจจุบันการรักษาโรคไตวายเรื้อรังในประเทศไทยมีการพัฒนาเป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อรู้ถึงลักษณะอาการของโรคไตตั้งแต่เนิ่น ๆ หมั่นคอยสังเกตอาการ และพบแพทย์ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี จะทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรง

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ 

สาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ 

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล