"พริษฐ์"เสนอร่าง "ข้อบังคับสภาก้าวหน้า"

2023-12-13 17:31:24

"พริษฐ์"เสนอร่าง "ข้อบังคับสภาก้าวหน้า"

Advertisement

"พริษฐ์"เสนอร่าง "ข้อบังคับสภาก้าวหน้า" เพื่อยกระดับประสิทธิภาพ เพิ่มความโปร่งใส รับประกันความเป็นธรรม เชื่อมโยงประชาชน หวัง ส.ส.รับหลักการวาระ 1 

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.66 ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร หรือ “ร่างข้อบังคับสภาก้าวหน้า” โดยอภิปรายว่า สภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรที่มีความพิเศษ เพราะน่าจะเป็นองค์กรเดียวในระดับประเทศที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่จากผลสำรวจที่ผ่านมากลับพบว่า สภาฯ เป็นองค์กรที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นน้อย ดังนั้น จุดมุ่งหมายในการเสนอร่างฯ ดังกล่าวคือการปรับปรุงกลไกการทำงานของสภาฯ เพื่อสนับสนุนให้ผู้แทนราษฎรทุกคน ทุกพรรค ทุกชุดความคิด ทำงานได้ดียิ่งขึ้นในการแข่งกันรับใช้ประชาชน และทำให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นพื้นที่ที่ประชาชนฝากความหวังไว้ได้ โดยมีข้อเสนอหลัก 9 ข้อ ใน 4 หมวด ได้แก่

หมวดที่ 1  ยกระดับ "ประสิทธิภาพ"

1) “สภาฉับไว” ได้แก่ การตัดกลไกที่ทำให้การพิจารณากฎหมายล่าช้าโดยไม่จำเป็น ประกอบด้วย การเพิ่มความชัดเจนเรื่องกรอบเวลาที่นายกฯ มีในการพิจารณาว่าจะรับรองให้กฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ หรือไม่ โดยใช้หลัก “auto approve” กล่าวคือ หากนายกฯ ยังไม่ตัดสินใจปัดตกร่างภายใน 30 วัน หรือตามกรอบเวลาที่กำหนด ให้ถือว่านายกฯ รับรองให้เข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ โดยอัตโนมัติ รวมถึงการปิดช่องไม่ให้คณะรัฐมนตรีนำกฎหมายที่กำลังจะลงมติกันในสภาฯ ในวาระที่ 1 ออกไปศึกษาเพิ่มเติมหรือ “ดอง” ไว้ 60 วัน ก่อนจะกลับมาพิจารณาและลงมติกันใหม่ เนื่องจาก ครม. มีเวลาอย่างน้อย 30 วันอยู่แล้วในช่วงที่ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชน ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ

2) “สภามีความหมาย” ได้แก่ การเพิ่มกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีที่เปิดให้มีการถาม-ตอบระหว่างนายกฯ กับผู้นำฝ่ายค้านและ สส.คนอื่นโดยตรง 1 ครั้ง/สัปดาห์ ซึ่งข้อบังคับเช่นนี้ปรากฏในสภาฯ ของหลายประเทศ เช่น วาระ “Prime Minister’s Questions” ในทุกวันพุธของสภาฯ สหราชอาณาจักร

3) “สภาเข้มแข็ง” ได้แก่ การกำหนดให้คณะกรรมาธิการสามัญที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ เช่น กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ กมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ และ กมธ.กิจการสภาผู้แทนราษฎร มีประธานเป็น สส. ฝ่ายค้าน ทั้งนี้ เสนอให้เพิ่มบทเฉพาะกาลในชั้นกรรมาธิการว่า ข้อบังคับนี้จะยังไม่ถูกบังคับใช้กับสภาฯ ชุดปัจจุบัน เพื่อไม่ให้กระทบกับข้อตกลงระหว่างพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นแล้ว

หมวดที่ 2 เพิ่มความ "โปร่งใส"

4) “สภาเปิดเผย” ได้แก่ การปลดล็อกให้การประชุมคณะกรรมาธิการมีการถ่ายทอดสดออนไลน์ ยกเว้นที่ประชุมมีมติงดการถ่ายทอดสดเป็นรายกรณี รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการประชุมสภาฯ เช่น รายงานการประชุม สถิติการเข้าประชุมรายคน สถิติการลงมติรายคน ในรูปแบบที่สามารถนำไปตรวจสอบและวิเคราะห์ต่อได้ง่าย

5) “สภาดิจิทัล” ได้แก่ การปรับให้การส่งเอกสารภายในต่าง ๆ ให้กับสมาชิก ดำเนินการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก การจัดทำระบบติดตามสถานะและความคืบหน้าของร่างกฎหมายทุกฉบับที่ถูกเสนอต่อสภาฯ การจัดทำระบบติดตามสถานะและความคืบหน้าของทุกเรื่องที่ถูกปรึกษาหารือในสภาฯ และคำชี้แจงหรือคำตอบกลับจากหน่วยงาน

หมวดที่ 3 รับประกันความ "เป็นธรรม"

6) “สภายุติธรรม” ได้แก่ การลดดุลยพินิจของประธานสภาฯ ในการวินิจฉัยว่าญัตติใดเป็นญัตติด่วน โดยกำหนดให้ประธานสภาฯ ออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการวินิจฉัยว่าเรื่องใดเป็นเรื่องด่วน ซึ่งสภาฯ เห็นชอบและเปิดให้มีการทบทวนทุก 1 ปี เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยที่เป็นธรรมที่สุดกับทุกฝ่าย

7) “สภาเสมอภาค” ได้แก่ การกำหนดไม่ให้มีการอภิปรายที่ยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ศาสนา เพศ หรือฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม เป็นต้น

หมวดที่ 4 เชื่อมโยง "ประชาชน"

8) “สภาประชาชน” ได้แก่ การเปิดให้ประชาชน 5,000 คนมีสิทธิเข้าชื่อเพื่อเสนอญัตติให้สภาฯ พิจารณา จากปัจจุบันที่เปิดให้เฉพาะประชาชน 10,000 คนมีสิทธิเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อสภาฯ รวมถึงการกำหนดให้ร่างพระราชบัญญัติที่ถูกเสนอโดยประชาชน นับเป็นเรื่องด่วนที่จะถูกพิจารณาเร็วขึ้น

9) “สภาสากล” ได้แก่ การกำหนดให้มีการแปลทุกพระราชบัญญัติที่สภาฯ เห็นชอบเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นคลังข้อมูลในการสื่อสารกับประชาคมโลก

นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า  ตนเข้าใจดีว่าปัญหาทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถแก้ไขได้จากเพียงการแก้ไขข้อบังคับ บางส่วนต้องอาศัยการแก้รัฐธรรมนูญ บางส่วนต้องอาศัยอำนาจบริหารของประธานสภาฯ และบางส่วนต้องอาศัยวัฒนธรรมการเมืองที่ต้องบ่มเพาะกันอย่างต่อเนื่อง แต่ตนก็หวังว่าข้อเสนอทั้ง 9 ข้อจะเป็นจุดเล็ก ๆ ในการทำให้สภาผู้แทนราษฎรทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน จึงหวังว่าเพื่อนสมาชิก สส. จะรับหลักการในวาระที่ 1 เพื่อเปิดช่องให้เกิดการถกเถียง แลกเปลี่ยน และพิจารณารายประเด็นกันได้อย่างเต็มที่ต่อไปในชั้นกรรมาธิการ