"วิโรจน์"เสนอ 15 มาตรการแก้คอร์รัปชัน

2023-12-09 06:00:18

"วิโรจน์"เสนอ 15 มาตรการแก้คอร์รัปชัน

Advertisement

"วิโรจน์" ชี้ประเทศไทยยังคงอยู่ในวังวนคอร์รัปชัน 9 หลุมดำ เสนอ 15 มาตรการแก้ปัญหาต่อรัฐบาล

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.66 ที่อาคารอนาคตใหม่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พร้อมด้วย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ร่วมแถลงข่าวจับตานโยบาย “ชำแหละปัญหา-เสนอทางแก้คอร์รัปชัน” เพื่อส่งสัญญาณไปสู่รัฐบาล เนื่องในโอกาสที่วันที่9 ธ.ค.66 เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล พร้อมเสนอมาตรการที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลสามารถจัดการปัญหาได้ทันที

นายวิโรจน์ ระบุว่ามูลค่าของการทุจริตคอร์รัปชัน มีการประเมินว่าสูงถึง 3 แสนล้านบาทต่อปี เทียบเท่ากับงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ 1 ปี เป็น 42 เท่าของงบประมาณกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และเป็น 3 เท่าของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเมื่อพิจารณาจากดัชนีการรับรู้คอร์รัปชัน  ตั้งแต่ปี 2555-2565 จะเห็นได้ว่าการทำรัฐประหารในปี 2557 ที่อ้างว่าเพื่อมาจัดการปัญหาการทุจริต กลับทำให้ปัญหาการทุจริตอยู่ในจุดที่เสื่อมทรามลง และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็เป็นเพียงเอกสารที่ไม่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงปัญหาคอร์รัปชันในเชิงระบบใดๆ กลายเป็นการสร้างระบบอุปถัมภ์ที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยด้วยซ้ำ

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่าการทุจริตมูลค่า 3 แสนล้านบาทที่เกิดขึ้นในแต่ละปี ส่วนใหญ่มาจากการปล้นผู้ประกอบการที่รับงานภาครัฐ ระดมไถจากภาษีของประชาชน ทำให้การลงทุนภาครัฐอยู่ในจุดที่ด้อยคุณภาพ สาธารณูปโภคต่ำกว่ามาตรฐานที่ประชาชนควรจะได้รับ ทั่วโลกรู้ คนในประเทศรู้ เคยมีการสำรวจพบด้วยซ้ำว่า 1 ใน 6 ของคนไทยเคยเข้าไปมีส่วนโดยตรงในการถูกเรียกรับผลประโยชน์ทั้งนี้ เท่าที่ตนได้ติดตามปัญหา ประเทศไทยยังคงอยู่ในวังวนของหลุมดำของการคอร์รัปชันทั้ง 9 หลุม ประกอบด้วย :

1) ระบบตั๋วเส้นสาย การวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง ระบบอุปถัมภ์ และเครือข่ายทุนผูกขาด

2) การขาดความโปร่งใส และอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ ทำให้ประชาชนอยู่ในภาวะที่ตรวจสอบได้ลำบาก

3) กฎหมายปิดปาก การคุกคามสื่อ และการลิดรอนเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์

4) การใช้อำนาจขององค์กรอิสระที่ปราศจากความรับผิดชอบ ไร้กลไกในการตรวจสอบถ่วงดุล แม้ความอิสระจะดูเหมือนเป็นเรื่องที่ดี แต่ความอิสระก็สามารถเป็นสิ่งที่เป็นภัยร้ายได้ เมื่อองค์กรที่แอบอ้างว่าเป็นคนดีสามารถใช้อำนาจบาตรใหญ่โดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลจากภาคประชาชนหรือองค์กรอื่นใด

5) กฎหมายที่ล้าสมัย ที่เอื้อให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ เอื้อให้เกิดการผูกขาดหรือการฮั้วประมูล

6) การใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐาน ตั้งธงใช้นิติสงครามเล่นงานคนที่คิดต่าง แต่เมื่อพวกพ้องของตนเองทำผิด กลับสามารถหาข้ออ้างพิสดารมาปกป้องให้พ้นผิดได้อยู่เสมอ

7) ความไม่จริงจังในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาการคอร์รัปชัน หรือมีการบังคับใช้อย่างล่าช้า รวมถึงมีการใช้ช่องว่างทางกฎหมายมาหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม

8) การตอบสนองต่อการทุจริตคอร์รัปชันอย่างล่าช้าไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นตัวฉุดรั้งหลักที่ทำให้คะแนน CPI ตกต่ำ ใช้วิธีปฏิเสธอย่างหน้าไม่อาย ไม่ยอมรับว่ามีการกระทำความผิดหรือมีการทุจริตเกิดขึ้น ทั้งที่เป็นประเด็นที่โจษจันกันไปทั่วโลก ประชาชนรับรู้อย่างกว้างขวางแต่ผู้รับผิดชอบปฏิเสธตลอดเวลาว่าไม่เคยเกิดขึ้น

9) สังคมมองว่าการรีดไถและการเรียกรับผลประโยชน์ที่เป็นเรื่องปกติ กลายเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ทำกัน

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า  การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันจำเป็นต้องแก้ไขที่โครงสร้าง ตลอดจนมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยควบคู่กันไปด้วย มีการดำเนินนโยบาย และตรากฎหมายที่ส่งเสริมความโปร่งใส คุ้มครองเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ตลอดจนมีการบังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง โดยตนมีตัวอย่างที่ขอนำเสนอ ที่นายกรัฐมนตรีดำเนินการได้ทันที ประกอบด้วย

1) การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง, พ.ร.ก.การบริหารการจัดการทำงานคนต่างด้าว และ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพื่อแก้ไขปัญหาส่วยแรงงานข้ามชาติ

2) การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.โรงแรม และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร เพื่อส่งเสริมให้โรงแรมต่างๆ เลิกถูกรีดไถเสียที สามารถขอจดทะเบียนได้อย่างถูกต้อง ป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายในการรีดไถเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการโรงแรมและโครงการก่อสร้างต่างๆ

3) การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพื่อให้เงินนอกงบประมาณมีความโปร่งใสมากขึ้น

4) การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ที่มุ่งเน้นความโปร่งใส และส่งเสริมการตรวจสอบจากภาคประชาชน

5) การเข้าร่วมเป็นภาคีเพื่อการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government Partnership - OGP) รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลด้านงบประมาณอย่างโปร่งใส

6) การออก พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ (Anti-SLAPP Act) เพื่อส่งเสริมการตรวจสอบถ่วงดุลจากภาคประชาชน

7) การออก พ.ร.บ.ปกป้อง และยกเว้นโทษให้กับผู้เปิดเผยข้อมูลการทุจริต เพื่อการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันทั้งขบวนการแบบถอนรากถอนโคน

8) การแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อไม่ให้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ ถูกนำไปใช้คุกคามเสรีภาพในการแสดงออก และการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน

9) การบังคับใช้มาตรา 77 ของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ อย่างเคร่งครัด ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจให้มีธรรมาภิบาล ไม่มีระบบตั๋ว ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง และแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) สามารถตรวจสอบถ่วงดุลการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในท้องที่ได้อย่างแท้จริง

10) การบังคับใช้มาตรา 131 และมาตรา 176 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อการคุ้มครองพยาน และเอาผิดกับนิติบุคคลที่เสนอเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ

11) การแก้ไข พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ, พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม และ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้หลักเกณฑ์ในการขออนุญาตต่างๆ มีความชัดเจน ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ลง ตลอดจนเร่งรัดกระบวนต่างๆ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

12) การแก้ไข พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน, พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง เพื่อให้โครงการสำคัญต่างๆเข้าร่วมการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได

13) การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้องค์กรอิสระ มีการตรวจสอบและถ่วงดุล ไม่อยู่ในสภาพที่แสร้งเอาคำว่า “อิสระ” มาเป็นข้ออ้างในการใช้อำนาจบาตรใหญ่โดยปราศจากความรับผิด

14) การแก้ไขประกาศของคณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ ไม่ให้มีเนื้อหาสาระที่กีดกันการเลื่อนชั้นของผู้รับเหมา จนทำให้ผู้รับเหมาชั้นพิเศษอยู่ในสถานะกึ่งผูกขาด เอื้อให้เกิดการฮั้วประมูล

15) การทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรอิสระ เช่น การอาศัยมาตรา 85 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน และมาตรา 32 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในการแก้ไขปรับปรุง กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ และมติ ครม. ต่างๆ ที่เอื้อให้เกิดการผูกขาด หรือเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้ดุลพินิจหรือใช้ช่องว่างของกฎหมายในการเรียกรับผลประโยชน์

นายวิโรจน์กล่าวต่อไปว่า 15 มาตรการข้างต้นเหล่านี้เป็นตัวอย่างเบื้องต้นเท่านั้น แต่ล้วนเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้โดยไม่ยากเย็น หากนายกรัฐมนตรีมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถให้ความร่วมมือกับสภา และสั่งการดำเนินการได้ทันที