"ร้อนใน" แผลในช่องปากที่ควรระวัง
ร้อนใน เป็นแผลที่เกิดขึ้นตามจุดต่าง ๆ ในช่องปาก เช่น ริมฝีปากด้านใน กระพุ้งแก้ม หรือลิ้น จะมีขนาดเล็กตั้งแต่ 1 มิลลิเมตรถึงขนาดใหญ่เกิน 1 เซนติเมตร โดยรูปร่างอาจเป็นรูปวงกลมหรือวงรี มีสีขาวออกสีเหลือง รอบรอยแผลจะแดง เมื่อสัมผัสโดนแผลทำให้เกิดอาการเจ็บและระคายเคืองในปาก เช่น เวลารับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ
สาเหตุของแผล ร้อนใน
ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่อาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้าไปกระตุ้นจนก่อให้เกิดแผลร้อนในขึ้น ดังนี้
-พันธุกรรม
-เชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
-การขาดสารอาหาร เช่น วิตามินบี 12 กรดโฟลิก
-การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน โดยเฉพาะผู้หญิงช่วงก่อนมีประจำเดือนหรือระหว่างมีประจำเดือน
-ความเครียดหรือความกังวล
-พักผ่อนไม่เพียงพอ
-อาหารบางชนิดที่มีอาการแพ้
-จัดฟันหรือมีอุปกรณ์ทันตกรรมในช่องปาก
-โรคประจำตัวเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน เช่น โรคโครห์น โรคเบเช็ท เอชไอวี
อาการ
ผู้ป่วยที่เป็นแผลร้อนใน ในช่องปากโดยทั่วไปจะมีอาการที่คล้ายกัน คือ มีลักษณะบวม แดง และเจ็บบริเวณที่เป็นแผลร้อนใน บางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้สูงหรือต่อมน้ำเหลืองบวมโต
อันตรายของแผลร้อนใน
-แผลร้อนในที่เกิดขึ้นในช่องปากจะสามารถหายเองได้ แต่ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นระยะเริ่มแรกของมะเร็งในช่องปากได้เช่นกัน เนื่องจากมีอาการที่ควรเฝ้าระวัง หากแผลร้อนในมีลักษณะดังนี้ ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
-แผลเกิดขึ้นจำนวนมากกว่า 1 จุด และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องขณะที่แผลเก่ายังไม่หาย
-แผลมีขนาดใหญ่เกินกว่าปกติหรือลุกลามไปบริเวณอื่น
-มีแผลร้อนในเกิดขึ้นต่อเนื่องและอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์
วิธีการรักษา
แผลร้อนในสามารถหายเองได้ในเวลาไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ ช่วงที่มีอาการควรปฏิบัติตัว ดังนี้
-ดูแลสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ เช่น แปรงฟันโดยใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม
-ใช้น้ำยาบ้วนปากอ่อน ๆ
-หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัดที่ทำให้เกิดการระคายเคือง
-ใช้ยาทาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก
-ใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน หากอาการรุนแรง
-จี้ด้วยเคมีหรือไฟฟ้า
วิธีป้องกัน
-รับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ
-หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ของทอด ของมัน หรืออาหารที่มีรสเผ็ดร้อน
-รับประทานผักและผลไม้อย่างสม่ำเสมอ
-ดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน
-หลีกเลี่ยงความเครียด
-ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
-ดูแลสุขภาพในช่องปากอย่างสม่ำเสมอ เช่น แปรงฟันหลังรับประทานอาหาร
-พักผ่อนให้เพียงพอ
แผลร้อนในเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยหากมีอาการอาจสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้นจึงควรรักษาสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดที่อาจก่อให้เกิดแผลร้อนใน หากมีความผิดปกติหรืออาการรุนแรงมากขึ้นควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
อ.พญ.โยษิตา หมื่นแก้ว
ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล