"ชัชวาล" ชงเพิ่มวงเงินชะลอการขายข้าวเป็น 3 หมื่นล้าน พร้อมเพิ่มสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้สถาบันการเกษตร ไว้เป็นทุนรับซื้อข้าวชาวนา ป้องกันพ่อค้าคนกลางกดราคา
เมื่อวันที่ 6 พ.ย.66 นายชัชวาล แพทยาไทย ส.ส.ร้อยเอ็ดพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงกรณีที่ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เตรียมเสนอ 2 มาตรการ ชะลอการขายข้าวเพื่อรักษาเสถียรภาพข้าวเปลือก ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 7 พ.ย.นี้ว่า ทุกวันนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ทำนาปีละ 1 ครั้งเนื่องจากน้ำน้อยโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน โดยข้าวเปลือกจะออกในห้วงเวลาเดียวกัน เก็บเกี่ยวพร้อมกันในลักษณะที่เป็นข้าวสดมีความชื้นสูง ส่วนใหญ่จะนำไปขายสด บางส่วนตากไว้เพื่อทำพันธุ์ และรอให้ราคาดี ย่างไรก็ตาม เมื่อข้าวเปลือกถูกนำออกมาขาย ในห้วงเดียวกันจะทำให้ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ทำให้ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ดังนั้นตนขอเสนอไปยังรัฐบาลว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกร ผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2565/2566 ดอกเบี้ยร้อยละ1 ซึ่งเกษตรกรและสถาบันการเกษตรที่มีข้าวเปลือกเก็บไว้ในยุ้งฉาง โดยเก็บข้าวเปลือกเป็นแก้มลิง แล้วนำข้าวไปเข้าโครงการชะลอการขาย ซึ่งจะได้เงินสดตามราคาประกันและได้ค่าเก็บรักษาตันละ 1,500 บาท เมื่อราคาดีค่อยทยอยนำข้าวเปลือกออกขาย ก็จะทำให้ราคาข้าวเปลือกไม่ตกต่ำ ตนจึงเห็นสมควรว่ารัฐจะต้องเพิ่มวงเงินในส่วนของโครงการนี้ เป็น 30,000 ล้านบาท จากเดิมที่ได้ในปีการผลิตที่ผ่านมา 25,590ล้านบาท แต่ถูกปรับลดเหลือเพียง 10,601 ล้านบาท
ขณะเดียวกันจำเป็นต้องให้สถาบันการเกษตรหรือสหกรณ์การเกษตร ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ เข้ามารวบรวมข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิก และเกษตรกรทั่วไป เพื่อป้องกันการกดราคา และป้องกันราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ซึ่งรัฐจำเป็นต้องมีสินเชื่อหรือเงินทุนให้กับสถาบันการเกษตรเหล่านั้น เพื่อเข้าไปรับซื้อข้าวโดยให้ สินเชื่อ ดอกเบี้ยต่ำ มีธกส.เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้กับสถาบันการเกษตรนั้น ซึ่งตนมองว่า รัฐสมควรที่จะเพิ่มวงเงินสำหรับโครงการนี้เป็น 20,000ล้านบาท จากเดิมที่เคยได้ในปีการผลิตที่ผ่านมา 10,000ล้านบาท แต่ถูกลดลงมาจนเหลือเพียง 481 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งพรรคไทยสร้างไทยขอตั้งข้อสังเกตว่า งบประมาณในส่วนดังกล่าว หายไปไหน ทั้งที่โครงการดังกล่าวไม่ได้เป็น เงินที่ให้ขาด แต่เป็นเงินที่ให้สถาบันการเกษตรไว้กู้ยืม และรัฐบาลจะได้คืนอย่างแน่นอนเมื่อมีการขายข้าว
นายชัชวาล กล่าวด้วยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้ ตนขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจเร่งพิจารณา เพื่อให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว โดยเฉพาะทั้งสองโครงการที่กล่าวมา ถือเป็นโครงการที่ดีและรัฐสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้โดยจะเป็นไปตามจำนวนข้าวเปลือกของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ และที่สำคัญจะช่วยให้เกษตรกรมีเงินทุนไว้หมุนเวียน และใช้จ่ายโดยไม่เดือดร้อน จะทำให้เกษตรกร มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ต้องแบกภาระหนี้สินหรือทำนาแล้วขาดทุนเหมือนที่ผ่านมา