"สมศักดิ์-สุริยะ-มนพร" ลุยสุรินทร์ ศรีสะเกษ "ครูมานิตย์"วอนผลักดันสนามบินสุรินทร์ หวังกระตุ้นท่องเที่ยว
เมื่อวันที่ 3 พ.ย.66 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ได้ลงพื้นที่ จ.สุรินทร์ และ ศรีสะเกษ เพื่อติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และรับฟังปัญหาในพื้นที่ โดยมี นายพิจิตร บุญทัน ผวจ.สุรินทร์ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย นายชูชัย มุ่งเจริญพร ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย นายพรเทพ พูนศรีธนากูล ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย นายปกรณ์ มุ่งเจริญพร ส.ส.สุรินทร์ พรรคภูมิใจไทย นายเชิงชาย ชาลีรินทร์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย นายศิวะ พงศ์ธีระดุลย์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย มาร่วมต้อนรับ
โดยจุดแรกนายสมศักดิ์ พร้อมด้วยนายสุริยะ และคณะ ได้เดินทางไปที่แขวงทางหลวงสุรินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ เพื่อร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าการพัฒนาในพื้นที่ ซึ่งนายครูมานิตย์ ได้สะท้อนปัญหาว่า ชาวสุรินทร์ อยากให้ช่วยผลักดันสนามบินสุรินทร์ เพราะเป็นความหวังของประชาชน ที่จะสามารถช่วยพัฒนาในพื้นที่ได้ โดยที่ผ่านมา เราเคยมีสนามบิน แต่ปัจจุบันไม่สามารถเปิดใช้งานได้ ซึ่งตนมองว่า หากมีสนามบิน จะทำให้สุรินทร์ประสบความสำเร็จ ทั้งด้านการท่องเที่ยว ที่มีความโดดเด่นเรื่องช้าง ด้านการศึกษาที่เดินทางสะดวก รวมถึงชาวต่างชาติ อย่าง กัมพูชา จะได้สามารถเดินทางมารักษาในโรงพยาบาลสุรินทร์ได้สะดวกขึ้น เพราะขณะนี้ชาวกัมพูชา นิยมเดินทางมารักษาพยาบาลที่สุรินทร์ ทำให้เป็นการสร้างโอกาสอีกจำนวนมาก จึงอยากให้ช่วยผลักดันในเรื่องนี้
ขณะที่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การเดินทางลงพื้นที่วันนี้ เป็นการทำงานแบบบูรณาการทุกหน่วยงาน ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ทุกหน่วยงานร่วมกันขับเคลื่อนงานให้เร็วที่สุด อย่าง หน่วยงานที่ตนกำกับดูแลคือ สำนักงาน ป.ย.ป. ซึ่งมีหน้าที่บูรณาการทุกหน่วยงานเข้าหากัน รวมถึงตนได้มอบให้ช่วยปรับแก้กฎหมาย ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและติดขัด โดยเรื่องที่ สส.ในพื้นที่ได้สะท้อนปัญหามา ตนก็จะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งดำเนินการแก้ไขให้ ส่วนเรื่องการผลักดันสนามบิน ก็เป็นสิ่งที่จะสามารถอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้ เพราะขณะนี้ หากจะเดินทางมาสุรินทร์ ต้องลงเครื่องที่ จ.บุรีรัมย์ และเดินทางด้วยรถยนต์ต่อ ใช้เวลาเดินทางอีกกว่า 40-50 นาที ดังนั้น ชาวสุรินทร์ ต้องขอบคุณ ส.ส.ที่รักพี่น้องประชาชน จึงได้เสนอให้ขับเคลื่อนสนามบินสุรินทร์ให้
ด้านนายสุริยะ กล่าวว่า ตนมีความยินดีที่ได้เดินทางมาตรวจราชการที่ จ.สุรินทร์ โดยการเดินทางมาวันนี้ เป็นไปตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้รัฐมนตรี ลงพื้นที่รับฟังปัญหาของประชาชน และนำมาแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งวันนี้ ตนก็มาติดตามการเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ 2 โครงการ คือ ทางหลวง 215 สายร้อยเอ็ด-อ.ท่าตูม และทางหลวง 2378 สาย อ.จอมพระ - บ.ไทรงาม โดยทราบว่า ประชาชนต้องการได้โครงการทางหลวงขนาดใหญ่ เพราะเป็นเส้นที่เชื่อมกับ จ.ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ซึ่งหากแล้วเสร็จ ก็จะทำให้ประชาชนเดินทางสะดวกขึ้น ส่วนเรื่องสนามบินสุรินทร์ ตนก็ได้โทรหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที ได้รับรายงานว่า มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายใหม่ ทำให้สนามบินสุรินทร์ที่เป็นของท้องถิ่น ต้องมีการโอนไปก่อน ถึงจะสามารถทำได้ และถ้าสนามบินเปิดได้แล้ว ก็จะพยายามหาเที่ยวบินมาเปิดให้
นอกจากนี้ คณะยังได้เดินทางต่อไปยังโรงเรียนปรางค์กู่ อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ และตรวจเยี่ยมแยกส้มป่อย อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ เพื่อรับฟังปัญหาด้านโครงสร้างในพื้นที่ ก่อนจะเดินทางไปยังแขวงทางหลวงศรีสะเกษ ที่ 1 เพื่อร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าของโครงการในพื้นที่ โดยมี นายภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย นายอมรเทพ สมหมาย ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย นายวีระพล จิตสัมฤทธิ์ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย น.ส.วิลดา อินฉัตร ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย ร่วมต้อนรับ
โดยผู้นำท้องถิ่น อ.ปรางค์กู่ ได้สะท้อนปัญหาการพัฒนาแหล่งน้ำว่า ในพื้นที่ มีแม่น้ำสายหลัก 3 สาย คือ 1.ห้วยสำราญ 2.ห้วยลีลา 3.ห้วยเสน ซึ่งพบปัญหาว่า แหล่งน้ำมีความตื้น รวมถึงมีผักตบชวาขวางทางน้ำ จึงอยากให้รัฐบาล ช่วยสนับสนุนงบประมาณในการขุดลอกให้สามารถกักเก็บน้ำได้มากขึ้น
ขณะที่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จ.ศรีสะเกษ มีปัญหาเรื่องน้ำ ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานที่ตนรับผิดชอบคือ สทนช. โดยจากการรับฟังปัญหา ตนได้สอบถาม สทนช.ที่ได้เดินทางมาด้วยในวันนี้ ก็รายงานมาว่า โครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ ยังไม่พบว่า มีการยื่นโครงการเข้ามา ดังนั้น ตนมองว่า ทุกท่านต้องช่วยกันเสนอโครงการเข้าระบบคือ เสนอโครงการที่เว็ปของ สทนช. ไทยวอเตอร์แพลน เพื่อผ่านการพิจารณาตามขั้น ทั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานลุ่มน้ำ ก่อนมาถึงตนในฐานะประธาน กนช. ซึ่งจะเห็นว่า มีหลายขั้นตอน ดังนั้น ทุกท่าน ต้องเร่งเสนอให้เร็ว จะได้นำไปสู่การแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ โดยหากมีการเสนอเข้ามาแล้ว ตนก็พร้อมที่จะช่วยผลักดันอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน ท่านนายกรัฐมนตรี ยังมีความเป็นห่วงในเรื่องภัยแล้ง จึงให้ขับเคลื่อนการทำฝายขนาดเล็ก ซึ่งตนขอฝากผู้นำท้องถิ่น ให้ช่วยสำรวจว่า พื้นที่ใดบ้างที่ควรสร้างฝาย เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น และลดผลกระทบในหน้าแล้ง ส่วนการแก้ปัญหาความยากจน ที่มีหลายฝ่ายสะท้อน ในฐานะที่ตนกำกับดูแล กองทุนหมู่บ้านก็จะทำโครงการให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเลี้ยงวัว จะได้มีรายได้เสริม และมีเงินไปใช้หนี้ได้