ชี้!ยังขาดมาตรฐานช่วยเหลือ สุดรันทดชายพิการยังถูกอมเงิน

2018-03-11 16:25:31

ชี้!ยังขาดมาตรฐานช่วยเหลือ สุดรันทดชายพิการยังถูกอมเงิน

Advertisement

สุดรันทด! ชายพิการยากจน ซ้ำร้ายถูกอมเงินของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ชาวบ้านยืนยันรับเงินไม่ครบ ชี้ขาดมาตรฐานช่วยเหลือ คนจนควรได้รับกับไม่ได้รับ

เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม ภายหลัง พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการ ปปท. พร้อมด้วย นายเกรียงไกร สืบสัมพันธ์ ผอ.กองปราบปรามทุจริตในภาครัฐ 5 ร่วมกับเจ้าหน้าที่คณะทำงานติดตามตรวจสอบการทุจริต เกี่ยวกับการช่วยเหลือของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.นครพนม จนกระทั่งพบว่า พื้นที่ จ.นครพนม มีชาวบ้านผู้เสียหาย จำนวน 564 ราย ในพื้นที่ 12 อำเภอ มากสุดคือ อ.นาหว้า มากถึง 270 ราย รองลงมาคือ อ.นาทม จำนวน 140 ราย ส่วนใหญ่มีปัญหา คือ เจ้าหน้าที่มีการนำเอกสารไปเบิกจ่ายจริง แต่มีการนำเงินมาจ่ายไม่ครบตามระเบียบ โดยระเบียบในการช่วยเหลือ จะสามารถช่วยเหลือได้ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ ไม่เกิน 3,000 บาท แต่บางรายได้เงินเพียง รายละ 1,000 – 2,000 บาท ต่อ ปี บางรายได้ประมาณ 200 -300 บาท และมีบางรายไม่ได้รับเลย ซึ่งในปี 2560 ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.นครพนม ได้เบิกจ่ายเงินไปทั้งสิ้น 1.7 ล้านบาท ทั้งนี้ ทาง ปปท. จะได้ใช้อำนาจทางกฎหมาย เอาผิดกับ ผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.นครพนม รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องในการกระทำผิด


ขณะเดียวกันทางผู้สื่อข่าว ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบติดตามปัญหา หลังมีชาวบ้านในพื้นที่ อ.นาหว้า จ.นครพนม ให้ข้อมูลว่า มีชาวบ้านหลายราย ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน ฐานะยากจน เป็นผู้พิการ ที่ยังขาดการดูแลช่วยเหลือ รวมถึงบางรายได้รับเงินช่วยเหลือไม่ครบ จึงได้ไปสอบทางข้อเท็จจริง จากนายสีบาล โกษาแสง อายุ 57 ปี ผู้ใหญ่บ้านอูนยางคำ หมู่ 11 ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม


นายสีบาล โกษาแสง อายุ 57 ปี ผู้ใหญ่บ้านอูนยางคำ หมู่ 11 ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนมเปิดเผยว่า ในการช่วยเหลือลูกบ้านของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จะมีการประสานผ่านผู้นำท้องถิ่น อยู่ 2 ส่วน คือ การช่วยเหลือแบบกลุ่ม คือ มีการตั้งกลุ่ม เพื่อประกอบอาชีพในหมู่บ้านตนมี 3 กลุ่ม ได้รับเงินเมื่อปี 2560 กลุ่มละประมาณ 10,000 – 15,000 บาท แต่ไม่รู้ถึงหลักเกณฑ์การช่วยเหลือ เมื่อนำมาให้ ชาวบ้านดีใจ มากน้อยไม่ว่า นอกจากนี้ยังมีการช่วยเหลือเป็นรายบุคคล รายละประมาณ 1,000 – 2,000 บาทต่อปี ในส่วนที่เดือดร้อน พิการ หรือยากจน เช่นเดียวกันกับ นางจันทิพย์ อุปชัย อายุ 42 ปี ผู้พิการและยากจน ตรวจสอบแล้วเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา ได้รับเงินช่วยเหลือแค่ 2,000 บาท แต่ภายหลังจากการสอบถามชาวบ้าน หลัง ปปท.ลงพื้นที่ตรวจสอบ จึงรู้ว่า มีการนำเอกสารชาวบ้านไปเบิกจ่ายเงิน รายละ 5,000 บาท แต่ชาวบ้านได้แค่บางส่วน




เช่นเดียวกับ นางดำรงค์ ประกิ่ง อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 125/3 หมู่ 11 บ้านอูนยางคำ ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม เป็นผู้พิการแขนขาลีบมาแต่กำเนิด แถมยากจน อาศัยอยู่ลำพัง พี่น้องต้องดิ้นรน ไปทำงานต่างจังหวัด หาเงินมาดูแลช่วยเหลือตามสภาพ แถมต้องอาศัยในบ้านพักเก่าทรุดโทรม รวมถึงรถเข็นที่ใช้งาน ทาง อบต.นำมาช่วยเหลือ ใช้งานมาหลายปี สภาพเก่าพังเสียหาย แต่ต้องทนใช้งาน เพราะไม่มีหน่วยงานมาดูแล มีรายได้จากเบี้ยคนพิการเดือนละ 800 บาท ส่วนปี 2560 ที่ผ่านมา สอบถามญาติ พบว่า มีเจ้าหน้าที่นำเอกสารไปสำรวจ และศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.นครพนม นำเงินมาช่วยเหลือแค่ 1,000 บาท ส่วนได้ครบหรือไม่ครบตามระเบียบตนไม่ทราบ จึงต้องการอยากให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว ส่วนปัญหาการทุจริต ชาวบ้านรับเงินไม่ครบ ขอให้เป็นไปตามกระบวนการตามกฎหมาย แต่สิ่งสำคัญ อยากให้มาดูแล ช่วยเหลือชาวบ้านที่เขาเดือดร้อนจริงจัง เชื่อว่ายังมีอีกหลายรายที่เดือดร้อนไม่ได้รับการช่วยเหลือ หรือหากผู้ใจบุญต้องการช่วยเหลือ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.089-223-5348