กรมสุขภาพจิตพบผู้ได้รับผลกระทบเหตุยิงห้างพารากอนเครียดนอนไม่หลับ

2023-10-08 15:20:43

กรมสุขภาพจิตพบผู้ได้รับผลกระทบเหตุยิงห้างพารากอนเครียดนอนไม่หลับ

Advertisement

ทีม MCATT กรมสุขภาพจิตให้คำปรึกษาผู้ได้รับผลกระทบเหตุกราดยิงห้างสรรพสินค้าพารากอน มีผู้รับบริการทุกระบบ 130 ราย เป็นผู้ใหญ่ 121 ราย เด็ก 9 ราย พบความเครียดอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนใหญ่นอนไม่หลับ

จากกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ต.ค.66 กรมสุขภาพจิตโดยทีม Mental Health Crisisi Assessment and Treatment team (MCATT) อันประกอบด้วยทีมแพทย์ พยาบาลและสหวิชาชีพ ติดตามดูแลผู้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เพื่อดูแลและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตมาโดยตลอด ทั้งผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงและทางอ้อม รวมทั้งประชาชนที่ได้รับข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ เพื่อเฝ้าระวังปัญหาด้านสุขภาพจิตและบาดแผลทางใจจากการสูญเสียที่เกิดขึ้นในสังคม

เมื่อวันที่ 8 ต.ค.66 นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมสุขภาพจิตจัดทำแผนปฏิบัติการและเยียวยาเชิงรุก พร้อมเฝ้าระวังดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ซึ่งอาการที่อาจเกิดขึ้นได้แก่ ภาวะตื่นตระหนก ตื่นกลัวทั้งทางร่างกายและจิตใจ หวาดกลัว ตกใจง่าย กระสับกระส่าย วิตกกังวล คิดมาก นอนไม่หลับ หงุดหงิด สมาธิแย่ลง รู้สึกซึมเศร้า หดหู่ สิ้นหวัง หรือการคิดเรื่องทำร้ายตัวเอง ทั้งนี้หน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิต เขตกทม.และปริมณฑลได้แก่ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา สถาบันราชานุกูล สถาบันจิตเวชเด็กและวัยรุ่น สถาบันกัลยาราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุขสังกัดสำนักอนามัย กทม. ได้เร่งลงเยี่ยมติดตามเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์เชิงรุกในพื้นที่ และตั้งศูนย์การค้าสยามพารากอน Care D+ Space ให้บริการเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ โดยทีมสหวิชาชีพด้านสุขภาพจิต จิตแพทย์ออน์ไลน์ พยาบาลวิชาชีพ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์และนักวิชาการสาธารณสุข พร้อมทั้งการคัดกรองดิจิทัลออน์ไลน์ แอพลิเคชั่นไลน์คิวอาร์โคด และสายด่วนโทร 1667 ร่วมให้คำปรึกษาดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทุกกลุ่มให้เข้าถึงการบริการด้านสุขภาพจิต ขณะนี้มีผู้รับบริการทุกระบบแล้วทั้งสิ้น 130 ราย เป็นผู้ใหญ่ 121 ราย และเด็ก 9 ราย พบว่ามีระดับความเครียดอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนใหญ่มีอาการนอนไม่หลับ ทีม MCATT ได้ให้การปรึกษารายบุคคลและแนะนำเทคนิคการคลายความเครียด สามารถเฝ้าระวังอาการตนเองได้

ด้าน พย.ดุษฏี จึงศิรกุลวิทย์ ผอ.กองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตเตรียมพร้อมลงเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ สำหรับการช่วยเหลือในเรื่องการปฐมพยาบาลสภาพจิตใจเบื้องต้นขณะนี้ จะเน้นในเรื่องของการ โดยจะทำความเข้าใจกับพื้นที่ให้สามารถปรับตัวและร่วมดูแลการปฏิบัติการเยียวยาที่สำคัญโดยใช้หลักการ ปฐมพยาบาลทางใจ (Psychological First Aid: PFA) เป็นกระบวนการสำคัญในการเยียวยาจิตใจอย่างใกล้ชิด ช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ ครอบครัว ญาติ และคนในพื้นที่ รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบในชุมชนใกล้เคียงให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไป โดยการแนะนำการสำรวจความรู้สึกตัวเองว่าไม่สบายใจ จนไม่สามารถจัดการอารมณ์ได้ ตั้งสติและมองหาทางออก เช่น ขอคำปรึกษาจากคนใกล้ตัวรับฟังและ ใส่ใจคนรอบข้าง โดยรายที่มีปัญหาสำคัญต้องส่งต่อและดูแลต่อเนื่องต่อไป ทั้งนี้ประชาชนสามารถยังสามารถโทรศัพท์สายด่วนปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต 1667 ซึ่งมียอดผู้รับบริการปรึกษาตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค. 66 มากกว่า 100 รายแล้ว มีผู้เสี่ยงสูงเป็นผู้ใหญ่ 22 คน เด็ก 1 คน โดยปัญหาที่ขอคำปรึกษาได้แก่ ความเครียด ความวิตกกังวล เครียดวิตกกังวลเรื่องตั้งครรภ์ เครียดเรื่องลูกออทิสติกความเจ็บป่วยทางจิต เครียดเรื่องครอบครัว การปรับตัวกับเพื่อน การใช้กัญชาและปัญหาความรัก เป็นต้น