108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ : ภาวะขี้หูอุดตัน

2018-03-27 14:00:47

108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ : ภาวะขี้หูอุดตัน

Advertisement

หากผู้ใดมีอาการหูอื้อ ได้ยินลดลง ปวดหู อาจเป็นอาการบ่งชี้ของภาวะขี้หูอุดตันได้



ก่อนอื่นมาทำความรู้จักขี้หูกันก่อนว่า ขี้หูคืออะไร



ขี้หูมาจากช่องหูชั้นนอก ประกอบด้วยเยื่อบุผิวช่องหูชั้นนอกที่หลุดลอก (epithelial cells) ไขมัน และสารที่ผลิตจากต่อมเหงื่อ (sebum with secretions from modified apocrine sweat glands) อาจพบรวมกับสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่อยู่ในช่องหู รวมเป็นขี้หู ซึ่งอาจพบได้ทั้งแบบเปียก หรือแบบแห้ง

ขี้หูมีประโยชน์ในการช่วยทำความสะอาด ช่วยป้องกัน และช่วยหล่อลื่นช่องหูชั้นนอก โดยส่วนใหญ่แล้วขี้หูสามารถหลุดออกไปเองจากช่องหูได้ โดยเฉพาะเวลาขยับปากหรือการเคี้ยวจะช่วยกระตุ้นการขับขี้หู แต่ถ้าหากเกิดภาวะขี้หูอุดตัน อาจทำให้มีการได้ยินลดลงจากการนำเสียงบกพร่องได้ถึง 40 เดซิเบล ขึ้นอยู่กับระดับการอุดตัน และอาจทำให้มีอาการอื่น ๆ หรือภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมาด้วยได้ เช่น ปวดหู ไอ เสียงในหู คันหู มีกลิ่นในหู น้ำออกหู รู้สึกแน่นในหู ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ควรมาพบแพทย์





ในบางรายอาจมีภาวะขี้หูอุดตันโดยที่ไม่มีอาการเลยก็ได้และอาจไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะนี้ หากไม่ได้ไปตรวจหู โดยปัจจัยเสี่ยงของขี้หูอุดตัน เช่น ลักษณะของช่องหูที่แคบ การผลิตขี้หูที่มากผิดปกติ โรคเยื่อบุช่องหูที่ผิดปกติ การแคะหรือปั่นช่องหูด้วยคอตตอนบัดนั้น อาจสามารถเอาขี้หูออกได้ แต่อาจทำให้เกิดการดันขี้หูให้เข้าไปลึกขึ้น เกิดการอุดตันกว่าเดิมได้ และอาจทำให้เกิดแผลที่บริเวณช่องหูชั้นนอกหรือแก้วหูทะลุได้หากดันไปลึกเกินไป และตัวสำลีอาจหลุดเข้าไปเป็นสิ่งแปลกปลอมในหูได้อีกด้วย

ส่วนของการรักษาขี้หูอุดตัน มีหลายวิธี เช่น การใช้อุปกรณ์แคะหรือดูด การสวนล้าง การใช้ยาละลายขี้หู (Ceruminolytics) เช่น น้ำมันมะกอก โซเดียมไบคาร์บอเนต เป็นต้น ซึ่งการออกฤทธิ์หลักคือ ทำให้ขี้หูนิ่มขึ้น จนสามารถเอาออกได้ง่ายขึ้น และถ้ามีกล้องส่องตรวจหูร่วมด้วยจะสามารถดูได้ละเอียดขึ้นว่าขี้หูหมดหรือไม่ เยื่อบุผิวช่องหู มีแผลหรืออักเสบติดเชื้อหรือไม่ หรือแก้วหูมีลักษณะปกติไหม ซึ่งภาวะขี้หูอุดตันอาจสามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการแคะปั่นช่องหู ทำความสะอาดเฉพาะหูด้านนอกเท่านั้น และหากมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพราะอาจเป็นขี้หูอุดตัน หรือโรคอื่นก็ได้ และรีบรักษาก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา


อ.พญ.นวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล



ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล