สี จิ้นผิง จักรพรรดิเดินดินองค์ใหม่ของจีน

2018-03-05 13:05:29

สี จิ้นผิง จักรพรรดิเดินดินองค์ใหม่ของจีน

Advertisement


จีนเปิดการประชุมประจำปี สภาประชาชนแห่งชาติ หรือเอ็นพีซี ในกรุงปักกิ่งแล้วเช้าวันนี้ ซึ่งวาระสำคัญคือการเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มอำนาจและต่ออายุการบริหารประเทศให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สามารถบริหารประเทศได้มากกว่า 2 สมัย ซึ่งจะเท่ากับเป็นการยกเลิกการจำกัดเวลาในการบริหารประเทศของประธานาธิบดี ที่แต่เดิมให้อำนาจเพียง 2 สมัยไปโดยปริยาย และนั่นก็หมายความว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อาจอยู่ในตำแหน่งผู้นำจีนต่อไปตลอดชีวิต 

ปัจจุบันสี จิ้นผิงดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการของพรรค แต่ไม่ใช่ประธานของพรรคเช่นเดียวกับผู้นำ คนก่อนของจีน หลังจากที่มีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปีพ. ศ. 2492 เช่นเดียวกับเหมา เจ๋อตง อย่างไรก็ตามศาสตราจารย์ซาง หมิง จากภาควิชารัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเรนมินกรุงปักกิ่งแห่งประเทศจีนกล่าวว่า "ไม่ว่าสีจะเป็นประธานพรรคหรือแค่เลขานุการพรรคก็ไม่สำคัญ เพราะสิ่งสำคัญคือเขาสามารถกุมอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ และไม่สำคัญว่าชาติตะวันตกจะคิดเห็นอย่างไร เพราะอย่างไรก็ตามในขณะนี้เขาคือ จักรพรรดิของจีนไปเรียบร้อยแล้ว"  นอกจากนี้ ในการการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 เมื่อปีที่แล้ว ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้บรรจุ "ความคิดของสี จิ้นผิง ว่าด้วยสังคมนิยมแบบจีนสำหรับยุคใหม่" ลงเป็นหลักการสำคัญในธรรมนูญฉบับใหม่ของพรรค ซึ่งชี้ให้เห็นว่า เขาได้ขึ้นครองอำนาจเป็นผู้นำที่มีอิทธิพลสูงสุดของจีน เทียบเท่ากับประธานเหมา เจ๋อตง ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน

ทั้งนี้จีนมีจักรพรรดิผู่อี๋ เป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งใหญ่ของจีนได้สละราชสมบัติในปีพ. ศ. 2455 เป็นจักรพรรดิที่ 12 แห่งราชวงศ์ชิงที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ยาวนาน 267 ปี ที่จีนถูกปกครองด้วยระบอบจักรวรรดิที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จโดยบุคคลเดียว ก่อนที่ต่อมาจะเป็นการปกครองในระบอบเผด็จการภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่มีวาระ 5 ปีเป็นการเปลี่ยนแปลงหลังการเสียชีวิตในปี 1976 ของเหมา เจ๋อตง ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐประชาธิปไตยของจีนให้เข้าสู่ระบอบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ คือบุคคลสำคัญที่ทำให้ชาวจีนสามารถลุกขึ้นยืน และเกิดเป็นประเทศจีนใหม่ขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน



บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กระบุว่านอกจากเสียงคัดค้านจากชาวจีนที่ไม่เห็นด้วยบางกลุ่มและจากชาติตะวันตก หนทางของสี จิ้นผิง อาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เนื่องจากเขายังต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายอีกนานัปประการ ทั้งเรื่อง ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่สู้ดี ปัญหาด้านสังคมที่จีนมีประชากรชายมากกว่าหญิงทำให้เกิดความไม่สมดุลย์  ข้อพิพาททางกฎหมายระหว่างประเทศและระหว่างประเทศเกี่ยวกับทะเลจีนใต้  เป็นต้น 

ทั้งนี้ชาวจีนส่วนใหญ่ค่อนข้างพอใจกับระบบเผด็จการของพวกเขา ที่สามารถทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้เป็นอย่างดีถึงร้อยละ 10 ต่อปีเกิดสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆมากมาย การเคลื่อนย้ายคนจนนับล้านออกจากชนบทและเข้าสู่สถานที่ตั้งในเมืองช่วยให้คนนับล้านออกจากความยากจน 

ด้านสหรัฐคู่แข่งของจีนอันดับต้นมองว่าการกุมอำนาจของสี จิ้นผิง จะทำให้จีนเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวยิ่งขึ้นทั้งในเอเชียตะวันออกและทั่วโลกที่จีนมีพันธมิตรจำนวนมาก แต่สหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนันด์ ทรัมป์ เดินหน้านโยบาย "อเมริกันเฟิร์สต์" ที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง จนอาจจนำไปสู่ "สงครามเย็นทางการค้า" นอกจากนี้ทางชาติตะวันตกยังมองว่าการควบรวมอำนาจของสี จิ้นผิง ยังทำให้เขาเหมือนกันผู้นำเช่น วลาเดเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และ ฮิวโก้ ชาเวซ แห่งเวเนซูเอลา ที่กุมอำนาจการปกครองไว้แต่เพียงผู้เดียว