ห่วงเยาวชนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าพุ่ง

2018-03-02 13:45:14

ห่วงเยาวชนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าพุ่ง

Advertisement

กรมควบคุมโรคเผยการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนไทยอายุ 13-15 ปี ห่วงเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ามีความปลอดภัย แนะประชาชนตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้น


เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่โรงแรมเอเชีย กทม. นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการ “ตีแผ่ความจริง บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายอย่างไร” ว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันพบว่า มีการแพร่หลายของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มประชาชน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน จากข้อมูลการสำรวจการบริโภคยาสูบในเยาวชนระดับโลก อายุ 13–15 ปี ในประเทศไทย ปี 2558 พบว่า ในเยาวชนกลุ่มนี้มีการใช้หรือสูบบุหรี่ไฟฟ้า ร้อยละ 3.3 โดยเป็นเยาวชนชาย ร้อยละ 4.7 และเยาวชนหญิง ร้อยละ 1.9 รวมถึงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่ามีความปลอดภัย



นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกได้มีประกาศเกี่ยวกับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์หรือบุหรี่ไฟฟ้า ว่า ไม่ใช่อุปกรณ์หรือเครื่องมือสำหรับช่วยในการเลิกบุหรี่ เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานควบคุมที่เป็นมาตรฐานออกมายืนยันถึงความปลอดภัยหรือคุณประโยชน์ของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งประเด็นในเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกัน และได้รับความสนใจจากสาธารณชน เนื่องจากกลยุทธ์ธุรกิจยาสูบที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ดึงดูดความสนใจ รวมถึงช่องทางการส่งเสริมการขาย การโฆษณา และการประชาสัมพันธ์





รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2561 สำนักงานผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีเนื้อหาเป็นห่วงถึงอันตรายทั้งผู้สูบและผู้ใกล้ชิด โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ เด็ก และผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าส่วนมากมีสารนิโคติน เยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงสามารถเสพติดได้ง่าย และเป็นอันตรายต่อการพัฒนาสมองของวัยรุ่น ทำลายสมาธิและการเรียนรู้ นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ายังก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ของหญิงตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า และแนะนำให้มีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ซึ่งในปัจจุบันพบว่าประเทศในอาเซียน นอกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีสิงคโปร์ กัมพูชา และบรูไน ที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศเช่นกัน



“บุหรี่ไฟฟ้า มีส่วนประกอบของสารเคมีที่มีพิษและก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งนอกจากจะมีโทษต่อผู้สูบแล้วนั้น ละอองไอของบุหรี่ไฟฟ้ายังก่อให้เกิดโทษและผลกระทบต่อผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้าอีกด้วย โดยเฉพาะสารนิโคติน ที่พบทั้งในน้ำยาเติมบุหรี่ไฟฟ้า และในละอองไอที่เกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยสารนิโคตินที่พบในบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดการเสพติด เป็นสารก่อมะเร็งในปอดและทางเดินอาหาร ขัดขวางพัฒนาการของสมองในเด็ก และส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย ขอแนะนำประชาชนให้ตระหนักถึงโทษ พิษภัย และอันตรายที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะในเด็ก เยาวชน ขอให้ตระหนักถึงความเสี่ยงดังกล่าวให้มาก หากประชาชนที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ สามารถโทรศัพท์ปรึกษาได้ที่ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ หมายเลข 1600 และคลินิกที่ให้บริการเลิกบุหรี่ใน รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข”รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว