รู้จัก “ไรขนตา” สิ่งมีชีวิตบนใบหน้าที่อาจเป็นต้นเหตุให้ตาติดเชื้อ

2018-03-01 09:50:11

รู้จัก “ไรขนตา” สิ่งมีชีวิตบนใบหน้าที่อาจเป็นต้นเหตุให้ตาติดเชื้อ

Advertisement

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีข่าวที่ชวนตกใจจากแดนมังกร ว่าสาวจีนรายหนึ่งต้องไปหาหมอเพราะมีอาการตาอักเสบ เนื่องจากติดเชื้อแบคทีเรียจากการมี “ไรขนตา” สะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ทำเอาคนรักสุขภาพอย่างเราตกใจ แล้วเจ้าไรขนตาคืออะไร ลองมาฟังคำตอบจากผศ.พญ.จันทนา สกุลแรมรุ่ง จักษุแพทย์ประจำคลินิกโรคตา โรงพยาบาล พญาไท 3 อธิบายถึงสิ่งมีชีวิตชนิดนี้กัน


“ไรขนตา” สิ่งมีชีวิตที่ใช้ชีวิตอยู่บนใบหน้าของเรา
คุณหมอจันทนา อธิบายว่า มีการค้นพบไรขนตามากว่า 150 ปีแล้ว ถือเป็นเห็บชนิดหนึ่ง มี 65 สายพันธุ์ แต่ที่อยู่ในร่างกายมนุษย์มี 2 สายพันธุ์คือ Demodex folliculorum และ Demodex brevis ทั้งคู่ถูกเรียกรวมกันว่า “ไรขนตา” (Eyelash Mites) ทั้งนี้ ไรขนตาเป็นสิ่งมีชีวิตคนละ order กับไรฝุ่น โดยไรขนตาชนิดหนึ่งจะอยู่ที่รากผม, รูขุมขน อีกชนิดอยู่ที่ต่อมไขมันซึ่งอยู่ติดกับรูขุมขน บริเวณที่พบมาก ได้แก่ ใบหน้า เส้นผม หน้าผาก จมูก รวมถึงอวัยวะที่มีความมันอย่างผู้ชายที่มีขนหน้าอก


ขณะเดียวกัน บริเวณเปลือกตาเรามีทั้งขนตาและต่อมน้ำมันที่สร้างน้ำมันตรงแกนขนตา ตัวที่อยู่โคนขนตาจะกินเซลล์ขน ส่วนตัวที่อยู่ตรงต่อมน้ำมันก็จะกินน้ำมันเป็นอาหาร เราทุกคนจะมีไรขนตานี้เหมือนกันโดยที่มันไม่สร้างปัญหาให้กับเรา ไม่ได้ทำให้เกิดโรคโดยตรง เมื่อเราอาบน้ำสระผม ไรขนตาบางส่วนจะร่วงหล่นและตายใน 2-3 ชั่วโมง ยกเว้นตัวที่เกาะที่ผ้าขนหนูหรือเข้าไปในครีมที่เป็นน้ำมัน ก็จะมีชีวิตอยู่ได้นานอีกหน่อย


อยู่แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย แต่ก็สร้างอันตรายได้เหมือนกัน



คุณหมอจันทนา บอกว่าในความเห็นของจักษุแพทย์หรือแพทย์ผิวหนัง เราเชื่อว่าในภาวะปกติไรขนตาไม่ได้สร้างปัญหา แต่ถ้าเป็นช่วงวัยรุ่นที่เริ่มเป็นสิว ฮอร์โมนเพศทำให้ต่อมน้ำมันขยายตัว ไรขนตาอาจเพิ่มจำนวนขึ้นเพราะว่าอาหารอุดมสมบูรณ์ อาจเกิดการปนเปื้อนของแบคทีเรีย จนเป็นต้นเหตุให้เกิดสิวอักเสบ หากรักษาจนสิวหาย ไรขนตาก็ลดลงได้


นอกจากนี้ เมื่อคนไข้บางกลุ่มมีระดับภูมิต้านทานแย่ลงหรือผู้สูงอายุที่ต่อมน้ำมันค่อนข้างอุดตันทำให้น้ำมันคั่งค้าง ไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ เชื้อดีโมเด็กจะเพิ่มปริมาณสูงขึ้น ชนิดที่อยู่โคนขนตาจะสร้างเซลล์ เป็นปลอกสีขาวๆ เหมือนมีขี้รังแคที่ขนตา ทำให้เปลือกตาอักเสบ บวม แดง บางครั้งมีเชื้อแบคทีเรียก็ทำให้ตาติดเชื้อ ตาแดง มีน้ำตา ซึ่งการรักษาคือระงับการสร้างน้ำมัน


ใครบ้างเสี่ยงติดเชื้อจาก “ไรขนตา”
- คนที่ระดับภูมิต้านทานต่ำลง ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยคือความเครียด



- ผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้ชายที่อายุ 70-80 ปี เพราะต่อมน้ำมันจะสร้างน้ำมันมากขึ้น และภูมิต้านทานที่ลดลง
- คนที่เจ็บป่วยเรื้อรัง ไม่ค่อยแข็งแรง หรือมีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน
- คนที่ผิวมัน มีการสร้างน้ำมันเยอะโดยธรรมชาติ
- คนที่เริ่มเป็นสิวก็อาจมีการติดเชื้อที่ผิวหนัง
- คนที่มีโรคติดเชื้อเรื้อรัง เช่นเอดส์ ก็ทำให้ติดเชื้อได้


เลี่ยงการติดเชื้อได้ง่ายๆ แค่ทำสิ่งเหล่านี้
วิธีการดูแลสุขภาพตาโดยทั่วไปนั้น คุณหมอจันทนา แนะว่าก่อนใช้มือสัมผัสดวงตา ต้องล้างให้สะอาดทุกครั้ง นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นๆ อีก ได้แก่



- ซักปลอกหมอนหรือผ้าปูที่นอนให้บ่อยครั้งขึ้น 2 สัปดาห์ต่อ 1 ครั้ง หากเก่าแล้วควรทิ้ง
- งดใช้เครื่องสำอางร่วมกับคนอื่น เพราะอาจเกิดการข้ามเชื้อได้ หากมีอาการตาอักเสบและรักษาหายดีแล้ว ต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด
- หากเป็นสิวอักเสบที่หน้าอก ป้องกันโดยการอาบน้ำทุกวันเพื่อชำระล้างคราบไขมันที่ติดร่างกาย
- หลังออกกำลังกายควรอาบน้ำเสมอ
- เมื่ออาบน้ำต้องขัดขี้ไคลออกบ้าง เพื่อลดจำนวนเชื้อ
- โลชั่นหรือครีมกันแดดควรเป็นแบบปราศจากน้ำมัน เพื่อป้องกันการเลี้ยงเชื้อ


หากติดเชื้อแล้ว จะรักษาอย่างไร



คุณหมอจันทนา อธิบายว่า การรักษานั้นค่อนข้างใช้เวลานานคือตามวงจรชีวิต 2-3 สัปดาห์ของไรขนตา ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนเพื่อกำจัดตัวไรที่โคนขนตา ในอดีตใช้เบบี้แชมพู สระๆ ถูที่โคนขนตาทุกวันจนกว่าจะสะอาดซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สระขนตาโดยเฉพาะ นอกจากนั้นจะมียารับประทานเพื่อลดการสร้างน้ำมันของเปลือกตา บางคนมีอาการตาอักเสบร่วมด้วย หมอก็จะให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ถ้าบริเวณที่เป็นคือศีรษะก็จะใช้แชมพูเพื่อลดการสร้างน้ำมัน
คุณหมอทิ้งท้ายว่า ไม่จำเป็นต้องให้ยาฆ่าไรขนตา เพราะไม่มีทางที่พวกมันจะตายหมด เพราะถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่กับเราแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย เพียงแต่เราต้องรักษาร่างกายให้แข็งแรง ไม่จำเป็นต้องกังวลหรือตื่นตัวของการมีเชื้อนี้จนเกินไป ในทางการแพทย์ก็ไม่กลัว การรักษาจึงไม่ใช่การฆ่าไรขนตาแต่เป็นการรักษาอาการอักเสบ รักษาความสะอาดให้ไรขนตาลดลง


ขอบคุณที่มา:https://www.phyathai.com/article_detail/2358/th/รู้จัก_“ไรขนตา”_สิ่งมีชีวิตบนใบหน้าที่อาจเป็นต้นเหตุให้ตาติดเชื้อ