108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ : อาการ "กลัวการขาดมือถืออย่างมาก"

2018-03-13 14:00:54

108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ : อาการ "กลัวการขาดมือถืออย่างมาก"

Advertisement

Nomophopia (โนโมโฟเบีย) หรือ No Mobilephone Phobia เป็นอาการของคนที่กลัว "อย่างมาก" เมื่อไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้ โรคนี้ยังไม่ได้ระบุเป็นโรคทางจิตเวชอย่างเป็นทางการ แต่อาจจะเป็นชื่อกลุ่มโรคได้ในอนาคตเมื่อมีการศึกษาเพิ่มเติมที่มากขึ้น



กลุ่มอาการเสี่ยงที่จะเป็นโรค Nomophobia ได้แก่



1. ตื่นตระหนัก กระสับกระส่าย กระวนกระวาย เป็นอย่างมากเมื่อโทรศัพท์มือถือไม่ได้อยู่กับตัว
2. หมกมุ่นอยู่แต่กับการเช็คข้อความจากสื่อโซเชียลมีเดียอย่างจริงจัง
3. เมื่อมีการแจ้งเตือนจากโทรศัพท์มือถือ จะรีบเช็คอย่างรีบร้อนในทันที
4. เมื่อตื่นนอนจะต้องเช็คโทรศัพท์มือถือเป็นอย่างแรกทุกวัน


5. กลัวโทรศัพท์มือถือหาย แม้วางอยู่ในที่ปลอดภัย
6. ตกใจกลัวอย่างมาก เมื่อโทรศัพท์มือถือหายไป



หากใครรู้สึกว่าตัวเองมีอาการเหล่านี้ หรือมีเพื่อน มีญาติที่มีอาการเหล่านี้ แล้วรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเราอย่างมาก เกิดความกระวนกระวาย เสียการเสียงาน ไม่สามารถทำอะไรต่าง ๆ ได้อย่างปกติ แนะนำให้มาพบจิตแพทย์เพื่อทำการรักษา พูดคุยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ป้องกันไม่ให้ลุกลามจนถึงขั้นเป็นโรคทางจิตเวช เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า เป็นต้น



การติดโทรศัพท์มือถือมาก ๆ ยังส่งผลกระทบทำให้เกิดอาการนิ้วล็อก เสียสายตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อคอ หมอนรองกระดูกเสื่อมก่อนวัยอันควร หรือโรคอ้วนก็สามารถเป็นได้ เพราะหลายคนคงเคยใช้โทรศัพท์มือถือไป กินขนมไป เพลินดี จนน้ำหนักเกินน้ำหนักขึ้นไม่รู้ตัว ฉะนั้นใช้โทรศัพท์มือถืออย่างพอดี อย่างรู้เวลา มีเวลาให้กับตัวเองและคนรอบข้างบ้าง ชีวิตก็จะมีความสุขกว่าการทุ่มเวลาทั้งหมดให้กับโทรศัพท์มือถือ


อ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์
สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล