"สุพันธุ์" เตือนหนี้ครัวเรือนพุ่งระเบิดเวลาเศรษฐกิจไทย

2023-07-06 09:32:35

 "สุพันธุ์" เตือนหนี้ครัวเรือนพุ่งระเบิดเวลาเศรษฐกิจไทย

Advertisement

"สุพันธุ์" เตือนหนี้ครัวเรือนพุ่ง ระเบิดเวลาเศรษฐกิจไทย เคยทำนายไว้ปี 64 แต่รัฐบาลไม่แก้จริงจัง

เมื่อวันที่ 5 ก.ค.66 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย  ประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย  ให้สัมภาษณ์กับถึงกรณีหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูงถึง 90.6% ในไตรมาสแรกของปี 2566  ว่าหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปเรื่องนี้จะเป็นระเบิดเวลาที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวและเติบโตต่ำในท้ายที่สุดจากรายงานปัจจุบัน ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนในไตรมาสแรกของปี 2566 มีจำนวนกว่า 16 ล้านล้านบาท หรือกว่า 90.6% ของ GDP โดยหากแยกเป็นประเภทสินเชื่อจะเป็นสินเชื่อบ้านประมาณ 34% สินเชื่อรถยนต์ 11% สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต 27% และ สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพและการศึกษาประมาณ 28%  หากดูตัวมูลหนี้จะเห็นได้ว่าหนี้ที่สูงผิดปรกติคือสินเชื่อส่วนบุคคลและหนี้บัตรเครดิต ที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภคโดยตรงมีอยู่ประมาณ 27% ในขณะที่เมื่อเทียบกับประเทศรอบข้างเช่น มาเลเซียอยู่ในระดับ 14.3% จีน 12% และ สิงคโปร์ เพียง 2% ซึ่งการที่มีหนี้ครัวเรือนสูงขนาดนี้มีโอกาสที่จะชะลอการบริโภคในประเทศลง โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปีที่มักจะเป็นช่วงที่มีการจับจ่ายค่อนข้างสูงจึงนับว่าน่าเป็นห่วงมาก

นายสุพันธุ์ กล่าวต่อว่า เคยทำนายไว้ตอนทำหน้าที่เป็นประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2564 ว่า หนี้ครัวเรือนจะเป็นปัญหาที่สุดในทางเศรษฐกิจ และเคยเสนอว่าธนาคารแห่งประเทศไทยต้องหยุดการขึ้นดอกเบี้ยมาหลายรอบแล้ว เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้จ่ายและชำระหนี้ได้ อีกปัญหาที่ชัดเจนคือความสามารถในการชำระหนี้ที่ยังมียอดคงค้างอยู่มาก ซึ่งรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องหาทางในการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน โดยไม่ได้คำนึงถึงเพียงแค่การเพิ่ม GDP ภาพรวมแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเพิ่ม GDP ในสัดส่วน SMEs ให้เพิ่มขึ้นด้วย รวมทั้งต้องมีการกระจายรายได้ให้มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ในประเด็นสุดท้ายคือประเด็นหนี้เสียที่ปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้เสียสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน หากยิ่งปล่อยให้ปัญหานี้ดำเนินต่อไปก็จะกระทบปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มไปอีกเพราะดอกเบี้ยปรับจะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ประชาชนขาดความสามารถในการชำระหนี้และความสามารถในจับจ่ายบริโภคในที่สุด ดังนั้นจึงต้องเร่งแก้หนี้โดยเฉพาะหนี้เสียรหัส 21 ที่เกิดในช่วงโควิดนั้นต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งหมดโดยเร็วสิ่งสำคัญคือต้องหยุดขึ้นดอกเบี้ยทันที และต้องช่วยแก้หนี้โดยเพาะหนี้เสีย เพราะในระยะยาวหนี้ครัวเรือนจะเป็นปัญหามากกว่าหนี้สาธารณะ เพราะหากไม่สามารถแก้หนี้ครัวเรือนได้จะทำให้ประชาชนไม่มีกำลังจับจ่ายใช้สอย GDP จะชะลอตัว ความเหลื่อมล้ำจะถ่างกว้างขึ้น และคนตัวเล็กสูญเสียโอกาสในการแข่งขันในที่สุด