Thailand Web Stat

โรคเครียดลงกระเพาะ

2 ปีที่แล้ว

โรคเครียดลงกระเพาะ

Advertisement

โรคเครียดลงกระเพาะ

อาการเครียด คือ จุดเริ่มต้นของโรคร้ายมากมายสามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศทุกวัย เพราะในแต่ละวันต้องพบเจอปัญหาทั้งเรื่องงาน เรื่องเรียน และชีวิตส่วนตัวจนเกิดเป็นความเครียดสะสม บางคนสามารถจัดการกับความเครียดได้ แต่บางคนสะสมความเครียดจนมีอาการปวดท้องและคลื่นไส้จนเกิดโรคที่เรียกกันว่า โรคเครียดลงกระเพาะ ซึ่งโรคนี้เกิดจากความเครียดที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ไปกระตุ้นให้กระเพาะอาหารมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นจนทำให้เกิดอาการผิดปกติได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

สัญญาณเตือนเมื่อเครียดเกินไป

-หายใจเร็ว รูจมูกขยาย จากการที่ปอดขยายตัวสร้างออกซิเจนสู่กล้ามเนื้อมากขึ้น ต้องการช่องทางเดิน อากาศที่กว้างมากขึ้น

-ขนลุก เนื่องจากเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังหดตัว

-อยากอาหารมากกว่าปกติ เนื่องจากต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนเร่งการเผาผลาญอาหารออกมามาก ทำให้ร่างกายถูกกระตุ้นจนอยากอาหาร

-คลื่นไส้ เนื่องจากการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารรวมถึงลำไส้เล็กแปรปรวนไป

-รู้สึกหงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป

ทำไมเครียดลงกระเพาะ ?

-ระบบประสาทอัตโนมัติ คือ ระบบประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในของร่างกายให้อยู่ในสภาพปกติ เช่น หัวใจ การหายใจ กระเพาะอาหาร และลำไส้ ไปกระตุ้นต่อมหมวกไตให้หลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีนออกมามากกว่าปกติ

-ต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนเร่งปฏิกิริยาการเผาผลาญอาหารออกมามาก ทำให้นอนไม่หลับและหิว

-ความเครียดทำให้การทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้หยุดชะงักลง

เครียดลงกระเพาะอันตรายหรือไม่ ?

โรคเครียดลงกระเพาะไม่ใช่โรคร้ายแรงที่ทำให้เสียชีวิตได้ แต่มักโรคเรื้อรังที่รบกวนต่อคุณภาพชีวิตเพราะอาการมักจะเป็น ๆ หาย ๆ หรือบางครั้งอาจมีอาการรุนแรงได้เป็นช่วง ๆ แต่หากมีอาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณเตือน เช่น น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ กลืนลำบาก กลืนเจ็บ ถ่ายดำหรืออาเจียนเป็นเลือด กินอาหารได้น้อยลง อิ่มเร็วขึ้น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนเรื้อรัง หรืออ่อนเพลียผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมว่าเสี่ยงมีอาการแทรกซ้อนหรือเป็นภาวะของโรคร้ายแรงอื่น ๆ หรือไม่ เช่น โรคมะเร็งในช่องท้อง

อ.พญ.ศุภมาส เชิญอักษร

สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล