รัฐบาลเดินหน้า 12 มาตรการรับมือฤดูฝน

2023-05-10 17:28:25

รัฐบาลเดินหน้า 12 มาตรการรับมือฤดูฝน

Advertisement

รัฐบาลเดินหน้า 12 มาตรการรับมือฤดูฝน  นายกฯสั่งเร่งแจ้งเตือนประชาชนเตรียมรับสถานการณ์

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 จำนวน 12 มาตรการ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้มาตรการดังกล่าว เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ประกอบด้วย 1.คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงช่วงฝนทิ้งช่วง (เดือน มี.ค.2566 เป็นต้นไป) โดยประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและดินโคลนถล่มในช่วงเดือนมี.ค.-ธ.ค.2566 และประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำจากช่วงฝนทิ้งช่วงในช่วงมิ.ย.-ก.ค.2566 2.บริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก (ภายในเดือนส.ค.2566) เตรียมความพร้อมการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำหรือแก้มลิง เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ ในช่วงฤดูน้ำหลาก หลักเกณฑ์การใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนองและการจ่ายเงิน ค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายในพื้นที่เอกชน

3.ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำหรือเขื่อนระบายน้ำ และจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำเชิงบูรณาการก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดูฝน รวมถึงติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำทุกขนาด และจัดทำแผนการบริหาร จัดการน้ำ แหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในช่วงภาวะวิกฤต 4.เตรียมความพร้อม ซ่อมแซม และปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตร ให้พร้อมใช้งาน และปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ 5.เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือ บุคลากร ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงในช่วงฝนทิ้งช่วง เพิ่มประสิทธิภาพการปรับปรุงวิธีส่งน้ำในพื้นที่เสี่ยงในช่วงฝนทิ้งช่วง 6.ตรวจความมั่นคงปลอดภัย คัน ทำนบ และพนังกั้นน้ำ และปรับปรุงให้มีสภาพพร้อมใช้งาน 7.เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำ อาทิ จัดทำแผนบูรณาการด้านเครื่องจักรเครื่องมือ/สารชีวภัณฑ์ในการกำจัดวัชพืชและขยะในลำน้ำ ขุดลอกคูคลอง

 8.ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุและจัดเตรียมพื้นที่อพยพอย่างน้อยภาคละ 1 พื้นที่ รวมถึงตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยเพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ และจัดทำแผนการฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพปกติ 9.เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน (ต.ค.-พ.ย.2566) เร่งเก็บน้ำหรือสูบทอยน้ำส่วนเกินในช่วงปลายฤดูฝนไปเก็บ และพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำขนาดเล็กเพิ่มขึ้น 10.สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์ก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดูฝน 11.การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดูฝน เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้และเข้าใจการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ช่วงฤดูฝน 12.ติดตาม ประเมินผล ปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลอดฤดูฝน) นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้ประชาสัมพันธ์การเตรียมมาตรการต่างๆ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ และให้แจ้งเตือนประชาชนระมัดระวังอย่างทันท่วงทีในช่วงฤดูฝนนี้ด้วย