โรคไข้เลือดออก
ไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) การติดเชื้อไวรัสนี้เกิดจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสนี้กัด ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด แล้วเกิดอาการป่วยขึ้น ไวรัสเดงกีมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ส่วนใหญ่เมื่อติดเชื้อด้วยสายพันธุ์หนึ่งก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นไปตลอดชีวิต แต่ยังสามารถติดเชื้อสายพันธุ์อื่นที่เหลือได้
ระบาดวิทยา
ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีโอกาสเป็นไข้เลือดออกได้ ในสมัยก่อนโรคไข้เลือดออกมักจะเกิดในเด็กเล็ก ไม่ค่อยพบในผู้ใหญ่ แต่ปัจจุบันพบในเด็กโต ผู้ใหญ่ รวมถึงผู้สูงอายุมากขึ้น อาจเป็นจากการที่โครงสร้างของประชากรเปลี่ยนแปลงไป มีผู้สูงอายุมากขึ้น ร่วมกับการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เด็กมีโอกาสถูกยุงลายกัดน้อยลง จึงไม่ได้เป็นโรคตอนเด็ก จึงมาเป็นตอนผู้ใหญ่ ในช่วงปี 2565 พบว่ามีการระบาดของโรคไข้เลือดออกมากขึ้นเมื่อเทียบกันกับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การระบาดของโรคไข้เลือดออกลดลงอย่างชัดเจน มีการสำรวจพบว่าลูกน้ำยุงลายลดลงในช่วงนี้ คาดว่าในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ประชากรอยู่บ้านกันมากขึ้น ทำให้มีเวลาในการจำกัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายมากขึ้น อย่างไรก็ตามตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2566 นี้พบว่ามีคนติดเชื้อแล้วราว 6,000 ราย
ความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเดงกี และเป็นโรคไข้เลือดออกส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง บางคนไม่ต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาลก็ได้ มีส่วนน้อยที่ต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล และในจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลส่วนน้อยมาก ๆ ที่จะมีอาการรุนแรง
ความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักสามารถเกิดจากสาเหตุได้ดังนี้
1. ผู้ป่วยอาจมีภาวะเลือดออกมาก (ตามชื่อโรคว่าไข้เลือดออก) เนื่องจากมีเกล็ดเลือดต่ำ และภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ภาวะเลือดออกที่เป็นอันตรายที่พบบ่อยในโรคนี้คือภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือถ่ายดำ
2. ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะมีการรั่วของพลาสมาในหลอดเลือดออกมาอยู่ในเนื้อเยื่อ รวมถึงช่องเยื่อหุ้มปอด หรือในช่องท้อง ในเลือดคนปกติจะมี 2 ส่วนประกอบใหญ่ ๆ คือส่วนที่เป็นเซลล์เม็ดเลือด และส่วนที่เป็นน้ำเหลือง หรือที่เรียกว่าพลาสมา ในผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกที่มีการรั่วของพลาสมา พลาสมาจะรั่วออกนอกหลอดเลือดดังที่กล่าวข้างต้น ทำให้ร่างกายเหมือนสูญเสียของเหลวออกไปจึงทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำหรือภาวะช็อกตามมาได้ ถ้ามีการรั่วของพลาสมาออกมามาก หรือมีภาวะช็อกอาจทำให้เสียชีวิตได้
3. ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจมีการทำงานของอวัยวะที่สำคัญเสียไป เช่น มีภาวะตับวาย ไตวาย สมองบวม เม็ดเลือดต่ำ มีภาวะติดเชื้ออื่นแทรกซ้อน ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน
รศ.นพ.ดร. นพพร อภิวัฒนากุล
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล