"นอนหลับ" กลไกสำคัญ "พัฒนาสมอง-การเรียนรู้"

2023-03-09 14:39:55

"นอนหลับ" กลไกสำคัญ "พัฒนาสมอง-การเรียนรู้"

Advertisement

"นอนหลับ" กลไกสำคัญ "พัฒนาสมอง-การเรียนรู้"

สามขวบปีแรกเป็นวัยที่พัฒนาการของเด็กเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จากนอนร้องไห้ดูดนม จนเป็นเด็กที่สามารถนั่ง พูด ยืน เดิน ได้นั้น เป็นช่วงเดียวกับที่เด็กใช้เวลาในการนอนมากกว่าสิบชั่วโมงต่อวัน การนอนเป็นเวลาที่ร่างกายและจิตใจพักผ่อน แต่ในขณะดียวกันก็เป็นเวลาที่มีกลไกการทำงานของสมองเกิดขึ้นมากมายเพื่อทำให้เกิดพัฒนาการในด้านต่าง ๆ การเติบโตและการพัฒนาของสมองเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นมากที่สุดในช่วงสามปีแรกของชีวิต ทารกแรกเกิดมาพร้อมกับจำนวนเซลล์สมองมากกว่า 80,000 ล้านเซลล์

สมองของเด็กแรกเกิดมีน้ำหนักเพียง 400 กรัม และเพิ่มขนาดอย่างรวดเร็วเป็น 1,000 กรัม ในวัยสามขวบ การเรียนรู้จากประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมองในตำแหน่งต่าง ๆ ที่เรียกว่า synapse โดยเซลล์สมองแต่ละเซลล์มีการเชื่อมต่อมากถึง 40,000 ครั้ง โดยมีการเชื่อมต่อเกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งล้าน synapse ในทุก ๆ วินาที เพื่อให้สมองแต่ละส่วนทำงานประสานกันได้ดี ซึ่งสอดคล้องไปกับการพัฒนาการของเด็กที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สมองยังมีการพัฒนาให้การส่งสัญญาณจากสมองเซลล์หนึ่งไปยังเซลล์อื่น ๆ ของสมองได้อย่างรวดเร็วโดยการสร้างปลอกเยื่อหุ้มใยประสาทที่เรียกว่า ไมอีลิน

ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของสมอง ได้แก่ พันธุกรรมที่ได้รับจากพ่อแม่ การเลี้ยงดู เช่น การได้รับสารอาหารที่เพียงพอ การได้รับการกระตุ้นหรือมีปฏิสัมพันธ์อย่างเหมาะสมกับวัย และการนอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพ เนื่องจากกระบวนการที่สำคัญของการพัฒนาสมอง ทั้งการเกิด synapse และการสร้าง myelin กระบวนการส่วนใหญ่เกิดขึ้นในขณะที่เด็กหลับ มีการศึกษาพบว่าในทารกและเด็กเล็กที่นอนไม่เพียงพอ มีขนาดสมองที่เล็กกว่า และมีระดับคะแนนพัฒนาการและความสามารถในการเรียนรู้ต่ำกว่าเด็กที่นอนเพียงพออย่างชัดเจน และยังมีการศึกษาพบว่าพัฒนาการทางด้านสติปัญญา สังคม และอารมณ์ในช่วงแรกของชีวิตนี้ ส่งผลในระยะยาวต่อความสามารถในการเรียนรู้เมื่อเข้าสู่วัยเรียนและวัยรุ่นอีกด้วย

ขณะตื่นเด็กได้รับการกระตุ้นผ่านประสาทสัมผัสต่าง ๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มากมาย เมื่อเข้าสู่การหลับสมองจะตัดสัญญาณรบกวนจากสิ่งแวดล้อมภายนอกและสมองจะทำการจัดเก็บความรู้ที่ได้เรียนรู้ใหม่ไปยังสมองส่วนกลีบขมับและสมองกลีบหน้าเพื่อเก็บเป็นความทรงจำระยะสั้นและความทรงจำระยะยาวตามลำดับ และสมองจะจัดระเบียบความรู้ใหม่ต่อยอดเข้ากับความรู้และประสบการณ์เดิมที่มีอยู่ ทำให้เราสามารถนำความรู้เหล่านี้นำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป โดยแต่ละระยะของการนอนก็มีความสัมพันธ์กับความจำและการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ กัน เช่น หลับตื้นหรือหลับระยะที่สอง เกี่ยวข้องกับความจำด้านการเคลื่อนไหว หลับลึกหรือระยะที่สามเกี่ยวข้องกับความจำภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ และความรู้เชิงนามธรรม เป็นต้น

ดังนั้นในวัยเรียน การนอนจึงมีความสำคัญต่อการเรียนรู้และการจัดการความจำของสมอง มีการศึกษาทั้งในเด็กประถมและวัยรุ่นที่กำลังศึกษาระดับมหาวิทยาในประเทศสหรัฐอเมริกาให้ผลในแนวทางเดียวกันว่า เมื่อมีการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทั้งด้านความจำและความสามารถในการปฏิบัติ โดยให้ผู้เข้าร่วมการศึกษากลุ่มแรกทำแบบทดสอบทันทีภายหลังการเรียน และทำแบบทดสอบซ้ำอีกครั้งหลังจากนอนหลับ และกลุ่มที่สองให้นอนหลับก่อนจึงค่อยทำแบบทดสอบ พบว่าคะแนนจากแบบทดสอบจะดีขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากที่ได้นอนหลับ การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการนอนต่อการจัดการความจำของสมอง

การนอนไม่เพียงพอจะส่งผลลบต่อพัฒนาการทางสมอง อารมณ์ และพฤติกรรม เนื่องจากในภาวะอดนอนนั้นมีการทำงานของสารสื่อประสาทที่ชื่อว่าโดปามีนและเซอโรโทนินลดลง ทำให้ขาดสมาธิ หงุดหงิด ควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้ และการอดนอนยังอาจส่งผลต่อระบบอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อง่าย อ้วน เป็นต้น ดังนั้น เราควรให้ความสำคัญกับการนอนหลับอย่างเพียงพอในเด็ก โดยส่งเสริมให้เด็กมีสุขนิสัยการนอนที่ดี มีเวลานอนที่เหมาะสมกับความต้องการในแต่ละช่วงวัย และมีการนอนที่มีคุณภาพ โดยเริ่มต้นที่เข้านอนและตื่นนอนตรงเวลาทุกวัน งดการดูทีวีหรือหน้าจออื่น ๆ ก่อนนอน หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน รวมถึงทำกิจกรรมที่ตื่นเต้น หวาดกลัวก่อนเข้านอน จัดกิจวัตรก่อนนอนที่ผ่อนคลายเพื่อเป็นการเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมที่จะนอน และจัดบรรยากาศห้องนอนให้เหมาะสมและใช้ห้องนอนสำหรับการนอนเท่านั้น โดยให้ห้องมีอุณหภูมิพอเหมาะ ไม่มีแสงสว่างหรือเสียงดังมากเกินไป เพื่อให้เด็กที่สุขนิสัยการนอนที่ดี และถ้าเด็กมีปัญหาที่อาจจะรบกวนคุณภาพการนอน เช่น นอนกรน หายใจเฮือก หรือหยุดหายใจขณะหลับ หรือมีอาการง่วงนอนตลอดเวลาถึงแม้จะนอนพอแล้ว ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การดูแลที่เหมาะสมต่อไป

รศ.พญ.ลัลลิยา ธรรมประทานกุล

ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล