เตือน 4-10 มี.ค. PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานกระทบสุขภาพ

2023-03-03 17:40:36

เตือน  4-10 มี.ค.  PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานกระทบสุขภาพ

Advertisement

ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ แจ้งเตือน  4-10 มี.ค.  PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

เมื่อวันที่ 3 มี.ค.66 ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) น.ส.ศิวพร รังสิยานนท์ โฆษก ศกพ. แถลงข่าวแจ้งเตือนสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือ มีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จากข้อมูลการติดตามตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ในภาพรวมของพื้นที่ภาคเหนือส่วนใหญ่คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ ค่าเฉลี่ยของปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) สูงเกินค่ามาตรฐาน ทั้งนี้ ศกพ. คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือ PM2.5 ยังมีแนวโน้มฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐาน ระหว่างวันที่ 4-10 มี.ค.66 ศกพ. ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าในปี 2566 สถานการณ์จะมีความรุนแรง เนื่องจากสภาพอุตุนิยมวิทยาที่ไม่เอื้อต่อการกระจายตัวของฝุ่นละออง รัฐบาลจึงได้เตรียมการรับมือตั้งแต่ปี 2565 โดยทุกหน่วยงานดำเนินการอย่างเข้มข้น บูรณาการทุกภาคส่วนในหลายมิติ ประกอบด้วย

1. การดำเนินงานด้านนโยบาย ใช้ พรบ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปี พ.ศ. 2550 เป็นกลไกหลักกำกับดูแลโดยกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน ผู้ว่าราชการจังหวัดบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) สั่งการไปยังทุกหน่วยงานในจังหวัด ไปยังอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน

2. การบูรณาการการทำงานผ่านกลไกที่หลากหลาย ได้แก่ การบูรณาการในระดับภาค การบูรณาการภายใน ทส. และการบูรณาการในระดับจังหวัด โดยมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการทั้ง 3 ระดับ และประสานงานกันอย่างใกล้ชิด

3.การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะชุมชน ในการดูแลรักษาป่าและเฝ้าระวังไฟ

4.การดูแลสุขภาพประชาชน โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น และจัดตั้งคลีนิคมลพิษ

นอกจากนี้ ยังใช้แนวทางในการจัดการพื้นที่ป่าจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “3 เกาะติด 3 ปฏิบัติ” โดย เกาะติดที่ 1 คือ เกาะติดข้อมูลข่าวสาร เกาะติดที่ 2 คือ เกาะติดพื้นที่ และเกาะติดที่ 3 คือ เกาะติดประชาชน ส่วนการปฏิบัติ ได้แก่ ปฏิบัติที่ 1 คือ ปฏิบัติด้วยตนเองอย่างเต็มความสามารถ ปฏิบัติที่ 2 คือ ปฏิบัติร่วมกับหน่วยข้าราชการอื่น และปฏิบัติที่ 3 คือ ปฏิบัติร่วมกับภาคีเครือข่ายและประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด อย่างไรก็ตามในการปฏิบัติจริง อาจพบปัญหาและอุปสรรค จึงต้องพลิกแพลงและปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เหมาะสมอยู่เสมอ

ทส. ให้ความสำคัญกับปัญหา และยกระดับการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส) ติดตามสถานการณ์ และสั่งการหน่วยงานภายใต้สังกัด ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ให้ยกระดับการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง กำชับทุกหน่วยงานดำเนินการให้เข้มข้นกว่าที่ผ่านมา เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในพื้นที่ป่า ซึ่งอยู่ในกำกับดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) และกรมป่าไม้ (ปม.) ควบคุมพื้นที่เสี่ยง โดยการปิดพื้นที่อุทยานแห่งชาติ (ยกเว้นส่วนให้บริการ) และควบคุมการเข้าใช้ประโยชน์ในป่า เพิ่มความถี่ในการลาดตระเวนเพื่อเฝ้าระวังและดับไฟ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อากาศยานไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติการได้ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ ดำเนินงานใกล้ชิดประชาชน และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ประสานงานการดำเนินงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อรายงานสถานการณ์ และเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา และยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้า ภาคเหนือ) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกับจังหวัด

นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้กำกับดูแลควบคุมการเผาอ้อย ประสานการจัดทำฝนหลวง และอยู่ระหว่างการเตรียมการจัดประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ซึ่งเราได้ยกระดับมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ 4 ซึ่งต้องพิจารณาโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

แม้ว่าภาครัฐได้เฝ้าระวังสถานการณ์และยกระดับการดำเนินงานมาโดยตลอด แต่สถานการณ์ก็ยังมีความรุนแรง เนื่องจากยังมีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายลักลอบจุดไฟเผาป่า ศกพ. จึงขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน ให้ร่วมเฝ้าระวังสถานการณ์ หากพบเห็นไฟในพื้นที่ใด ขอความร่วมมือแจ้งหน่วยงานในพื้นที่ สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 และสายด่วนนิรภัย 1784 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) ขอให้ปฏิบัติตน ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้ ประชาชนทั่วไปควรลดหรืองดการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายนอกอาคาร เปลี่ยนมาออกกำลังกายในอาคาร สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นเมื่อออกนอกอาคารทุกครั้ง สำหรับกลุ่มเสี่ยงให้งดออกนอกอาคาร ผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างน้อย 5 วัน นอกจากนี้ ประชาชนควรเฝ้าระวังตนเองด้วยการประเมินอาการจากการรับสัมผัส PM2.5 พร้อมรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นได้ที่เว็บไซต์ “4HealthPM2.5” หรือ “คลินิกมลพิษออนไลน์” และหากมีอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย หายใจมีเสียงหวีด ให้รีบพบแพทย์ ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมอนามัย 1478 สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422  ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศจากแอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ Air4Thai และเฟสบุ๊คแฟนเพจ “ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.)