"อนุทิน" เปิดโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติวางเป้า 8 ปี ยุติโรคร้าย

2022-12-14 00:05:58

"อนุทิน" เปิดโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติวางเป้า 8 ปี ยุติโรคร้าย

Advertisement

"อนุทิน" เปิดโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ วางเป้า 8 ปียุติโรคร้าย ระบุไทยสุดเจ๋ง คุมโรคเปี่ยมประสิทธิภาพ 12 ปี ยอดผู้ติดเชื้อลดลง 58% ขณะทิ่ยอดเสียชีวิตลดลง 65%

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 65  ที่โรงแรมแชงกรี-ลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ณ การประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ(UNAIDS) ครั้งที่ 51 ระหว่างวันที่ 13-16 ธ.ค.65

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้ขึ้นพูดบนเวทีเพื่อย้ำถึงความสำคัญของการจัดงาน และแนวทางการขับเครื่อน เพื่อแก้ปัญหาโรคเอดส์ ระบุว่า เราต้องย้ำเตือนตนเองถึงเป้าหมายการยุติโรคร้ายในปี 2573 UNAIDS และทุกประเทศจำเป็นต้องดำเนินการพูดคุยเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ทั้งระยะสั้น และระยะยาว นับตั้งแต่การหารือเมื่อเดือน มิ.ย.ปีนี้ เรามีความคืบหน้าอย่างยิ่งในการดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ แต่ก็ยังมีเรื่องมากมายที่ต้องกังวล ชัดเจนว่า ระดับการติดเชื้อใหม่ในประชากรวัยหนุ่มสาวยังคงสูง และเยาวชน คือ กลุ่มที่เราต้องปกป้อง

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการจัดการประชุม Asia-Pacific Youth Forum เรื่อง 'Putting Young Key Populations First' เป็นฟอรัมที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาผู้ติดเชื้อในกลุ่มเยาวชน ทั้งในเรื่องการรักษา ไปจนถึงการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ต่อสังคม เพื่อยุติการตีตรา

“ผมขอใช้โอกาสนี้ย้ำว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือมาตรการที่มีประสิทธิภาพแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องของการเข้าถึงการรักษา การสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องแก่สังคม ขอย้ำว่า หลักการดูแล ต้องตั้งอยู่บนความเท่าเทียม กับประเทศไทย เราได้เพิ่มสิทธิ์มากมาย เพื่อดูแลผู้ป่วย เพื่อให้พวกเขา สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข” นายอนุทิน กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเรื่องของการป้องกัน ดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประเทศไทยสนับสนุนให้กับประชาชน ได้เข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทย มี 4 ประเด็นสำคัญ คือ

1) การให้บริการถุงยางอนามัยฟรีแก่คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปทุกเพศ ทุกสิทธิ์ สามารถรับได้ที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

2) ส่งเสริมการจัดบริการเอชไอวีโดยชุมชน โดยเพิ่มองค์กรประชาสังคมที่ผ่านการประเมินตามมาตรฐานการจัดบริการเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

3) การให้บริการยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี แก่กลุ่มเป้าหมายหลัก (ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย หญิงข้ามเพศ ผู้ให้บริการทางเพศ ผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด คู่ผลเลือดต่าง) และยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังการสัมผัสเชื้อ ครอบคลุมประชาชนไทยทุกคน ไม่จำกัดอายุ ไม่จำกัดจำนวนครั้งการให้บริการ โดยทั้งหมดไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

4) การปรับเกณฑ์การเข้าถึงยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี (ยา Sofosbuvir/Velpatasvir) ให้ผู้ติดเชื้อได้รับการรักษาด้วยยาได้ทันที เมื่อถูกวินิจฉัยแล้ว และกำหนดให้มีการใช้ยาต้านไวรัสป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี จากแม่สู่ลูก (ยาทีโนโฟเวียร์) รวมอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ และปรับให้มีการใช้ยาต้านไวรัส (ยา Tenofovir alafenamide) ที่มีประสิทธิผลดี เป็นยาสูตรแรกในการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังแทนยาสูตรเดิมที่ดื้อยาสูง ซึ่งจะสามารถลดการป่วย การตายจากโรคไวรัสตับอักเสบ และภาวะแทรกซ้อนจากตับแข็ง และมะเร็งตับได้ และขณะนี้กรมควบคุมโรคร่วมกับภาคีเครือข่ายกำลังดำเนินการขับเคลื่อนให้มีการตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ในผู้ที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2535 รวมอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ และกำลังขับเคลื่อนให้การใช้ชุดตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง รวมอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลที่ประชาชนสามารถเข้าถึงชุดตรวจโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือซี ได้เข้าสู่การรักษาโดยเร็ว และเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น

การประชุมของคณะกรรมการฯ ที่ประเทศไทยครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการประชุมนอกนครเจนีวา สวิสต์เซอร์แลนด์ในรอบ 14 ปี และยังเป็นครั้งที่2 ที่จัดประชุมขึ้นที่เชียงใหม่ ซึ่งครั้งแรกจัดเมื่อปี 2551 มีนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เป็นประธานการประชุม ในฐานะรมว.สาธารณสุขของประเทศไทยในขณะนั้น  UNAIDS ได้ชื่นชมประเทศไทยที่สามารถเป็นผู้นำด้านการรับมือโรคเอดส์ระดับโลก ด้วยการเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าอย่างมากในการยุติการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV เป็นตัวอย่างสำหรับประเทศต่างๆ ในการแปลงเจตจำนงที่ทุกประเทศได้ให้ร่วมกันประกาศไว้ภายใต้โครงการว่าด้วยเรื่องเอดส์ของสหประชาชาติไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง และการเป็นเจ้าภาพประชุม UNAIDS PCB ของไทยจะช่วยรักษาแรงผลักดันประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในการปฏิบัติตามพันธสัญญาที่ทำโดยประชาคมต่างๆ

นอกจากนี้ UNAIDS ได้เผยแพร่เกี่ยวกับความสำเร็จในการการตอบสนองต่อสถานการณ์ HIV ของไทย ว่า ณ ปี 2564 มีผู้ติดเชื้อประมาณ 520,000 คน โดยไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการต่อต้านโรคเอดส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตรวจรักษาและช่วยชีวิตผู้ติดเชื้อ เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ได้รับการรับรองว่าขจัดการแพร่เชื้อ HIV จากแม่สู่ลูกได้ในปี 2559 และขณะนี้ได้ยังได้เข้าร่วมกับพันธมิตรระดับโลก(Global Partnership) เพื่อขจัดการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับ HIV ในทุกรูปแบบ

โดยตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมาประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ลดลงเกือบ 2 ใน 3 ของอดีต หรือลดลงราวร้อยละ 65 ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงร้อยละ58 และข้อมูล ณ ปี 2564 พบว่าประมาณร้อยละ 94 ของผู้ติดเชื้อ HIV ในประเทศไทยทราบสถานะของตนเอง ร้อยละ 91 ของผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยอยู่ในระหว่างการรักษา และ 97% ของผู้ที่ได้รับการรักษาประสบความสำเร็จในการยับยั้งไวรัส

UNAIDS ยังชื่นชมไทยในประเด็นการเป็นผู้นำในการบูรณาการบริการ HIV เข้ากับโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งกลายเป็นกลไกที่ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหา HIV ที่ยั่งยืน ซึ่งแนวปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จของประเทศไทยจะได้รับการเผยแพร่ และเรียนรู้โดยประเทศสมาชิกUNAIDS 22 ประเทศ หน่วยงานผู้สนับสนุน และภาคประชาสังคม หรือ NGOs ตลอดจนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเอดส์จากทั่วโลกที่จะเข้าร่วมการประชุม UNAIDS PCB ที่ประเทศไทยในกลางเดือนธ.ค. 65 นี้

ทั้งนี้ UNAIDS เป็นองค์กรภายใต้องค์การสหประชาชาติ หรือ UN มีภารกิจขับเคลื่อนให้ทั่วบรรลุวิสัยทัศน์ร่วมกันในการลดการติดเชื้อ HIV ใหม่เป็นศูนย์ การเลือกปฏิบัติเป็นศูนย์ และการเสียชีวิตจากโรคเอดส์เป็นศูนย์ด้วยความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆของ UN อาทิ UNHCR, UNICEF, WFP, UNDP, UNFPA, UNODC, UN Women, ILO, UNESCO, องค์การอนามัยโลก(WHO) และธนาคารโลก มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรระดับโลกและระดับชาติเพื่อยุติการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ภายในปี 2573