คร.แจงยอดครองเตียงโควิดเพิ่ม

2022-12-13 13:21:47

คร.แจงยอดครองเตียงโควิดเพิ่ม

Advertisement

รองอธิบดีกรมควบคุมโรคขอ  ปชช. อย่ากังวลยอดครองเตียงโควิดเพิ่ม แต่ยังไหว หลายพื้นที่ปรับตัวเปิดวอร์ดเพิ่ม ยันศพไม่แพร่เชื้อไม่ต้องตรวจ ATK

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 65  นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด 19 ที่มีรายงานว่าหลายจังหวัดต้องเปิดวอร์ดโควิดเพิ่ม ว่า ตอนที่โควิดระบาด ทุก รพ.จะใช้ศักยภาพเตียงที่มีมาดูแลโควิดหมด พอสถานการณ์ดีขึ้นก็ปรับกลับไปดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ แต่ตอนนี้หลาย รพ.คิดว่าต้องเตรียมความพร้อม เพราะเริ่มมีผู้ป่วยเพิ่ม จึงปรับระบบเตียงกลับมาเตรียมดูแลโควิดอีก แต่ภาพรวมการครองเตียงยังไม่ได้เป็นปัญหา ซึ่งตัวเลขรายงานเมื่อเช้าวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา ปอดอักเสบ 649 รายใส่ท่อช่วยหายใจ 385 ราย ถือว่าเพิ่มจากสัปดาห์ก่อนไม่มากนักอัตราการครองเตียงในกลุ่มผู้ป่วยระดับ 2-3 หรือเตียงเหลือง แดง อยู่ในระดับที่จัดการได้ คือประมาณ 8.5% ของเตียงทั้งหมด แต่มีบางจังหวัดรับส่งต่อผู้ป่วยอาจจะขึ้นไปถึง 20-30% ซึ่งก็ยังไหว เพราะระบบเราสามารถเฉลี่ยข้ามเขตสุขภาพได้  เมื่อเดือน พ.ย. ที่เราต่ำๆ ใช้เตียงแค่ 5% ตอนนี้ขึ้นมา 8.5% ก็ยังไหว ส่วนที่เคยระบาดรุนแรงจริงๆ ขึ้นไป 20-30% ทั้งนี้ประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะตอนนี้เราฉีดวัคซีนแล้ว ส่วนใหญ่เมื่อติดเชื้อจึงไม่ป่วยหนัก รอได้

เมื่อถามว่าปัจจุบันเมื่อมีการเจอศพ แล้วมีการตรวจ ATK พบติดโควิด ในตอนหลังทำให้หลายคนยังตกใจ นพ.โสภณ กล่าวว่า เบื้องต้นต้องมองก่อนว่าโรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ เปรียบเทียบหลังรอบนี้แล้วโควิดก็เหมือนไข้หวัดใหญ่ ที่อาจจะมีการป่วยและเสียชีวิตได้ มีการติดเชื้อได้ ซึ่งเชื้อที่จะเจอบ่อยจากนี้ก็จะเป็น 2 เชื้อนี้ ดังนั้นหากดูแลตัวเองดี กังวลว่าจะรับชื้อ เวลาจัดการกับศพต่างๆ ก็สวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ ก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องไปตรวจ ATK อีก แล้วนำศพไปจัดการในรูปแบบที่ปลอดภัย เนื่องจากว่าศพไม่แพร่เชื้อ เพราะว่าศพไม่ไอ ไม่จาม เพียงแต่คนเรามีโอกาสเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อเสมอ โควิดก็เหมือนกัน ดังนั้นการตรวจโควิดอาจจะไม่ได้ประโยชน์นักในช่วงหลังจากนี้

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องของสัดส่วนการเสียชีวิตนั้น จริงๆ ต้องดูลักษณะของการเกิดโรคก่อน หากเป็นการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 จะต้องมีภาวะปอดอักเสบก่อน ทำให้ปอดทำงานไม่ได้ ระบบทางเดินหายใจทำงานล้มเหลว กรณีนี้เชื่อได้ว่าโควิด 19 ทำให้เสียชีวิต แต่กรณีที่ป่วยเป็นโรคอื่นๆ อาจจะมีติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเป็นโรคหัวใจ แต่ในช่วงนั้นอาจจะมีเชื้อโควิดเยอะ จึงอาจจะเป็นคนที่เสียชีวิตร่วมโควิด 19 แต่ไม่ได้เกิดจากโควิด โดยตรง ซึ่งกรณีหลังนี้พบกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิต