"ม.มหิดล-สธ.-จุฬาฯ" จัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านโรคเขตร้อน

2022-12-07 22:01:37

 "ม.มหิดล-สธ.-จุฬาฯ"  จัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านโรคเขตร้อน

Advertisement

"ม.มหิดล-สธ.-จุฬาฯ"  จัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านโรคเขตร้อน ในรูปแบบ Hybrid Meeting

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.65  คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยองค์กรหลายแห่ง ได้แก่ หน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซฟอร์ด (Mahidol Oxford Tropical Medicine Research Unit) ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยเวชศาสตร์เขตร้อน (SEAMEO TROPMED Network) และมหาวิทยาลัยไห่หนาน (Hainan Medicine University) จัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านโรคเขตร้อน ประจำปี 2565 (Joint International Tropical Medicine Meeting 2022) โดยเป็นการจัดประชุมแบบ Hybrid Meeting ในรูปแบบ On-Site และ Online เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน การประชุมวิชาการนานาชาติด้านโรคเขตร้อน ประจำปี 2565 จะเป็นโอกาสให้นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ก่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการในระดับนานาชาติ โดยมีนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้ความสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมกว่า 800 คน จาก 42 ประเทศทั่วโลก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 - 9 ธ.ค.65 ณ โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์  กทม.


รศ.นพ.วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดประชุมฯ กล่าวว่า “การจัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านโรคเขตร้อน เป็นการประชุมทางด้านโรคเขตร้อนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 26 โดยจะเป็นเวทีที่ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้มีโอกาสสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการแสวงหาองค์ความรู้ และวิธีการในการพัฒนา ควบคุม ป้องกันรักษาโรคเขตร้อน และโรคที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ความคิดเห็นกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากทุกภูมิภาค เพื่อสร้างผลงานวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและประชาคมโลก ปี 2565 นี้ จัดประชุมในหัวข้อ “Leveraging the Pandemic Experience: Our Tropical Medicine Community Rejuvenated” ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจคือการศึกษาวิจัยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับโรคเขตร้อน (Tropical Disease) อีกทั้งมีหัวข้อการประชุมที่น่าสนใจหลายเรื่อง ได้แก่ โรคติดเชื้อ ไวรัส แบคทีเรีย หนอนพยาธิและโรคปรสิต ระบาดวิทยา และอื่น ๆ อีกมากมาย”

ในการประชุมยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงด้านการวิจัยสุขภาพ การพัฒนาระดับโลก ไวรัสและชีววิทยา มาร่วมปาฐกถาในงานประชุมครั้งนี้ ได้แก่ Dr.Dennis Carroll ประธานและผู้นำโครงการ Global Virome จากประเทศสหรัฐอเมริกา Prof. Drew Weissman ผู้อำนวยการการวิจัยวัคซีน มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา และ Prof. Sir Peter Horby ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ด้านการแพร่ระบาด มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ