วิธีนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพ

2022-12-01 09:52:00

วิธีนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพ

Advertisement

วิธีนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพ

ภาวะหัวใจหยุดเต้น คือภาวะที่การไหลเวียนเลือดหยุดลง ทำให้การทำงานของอวัยวะผิดปกติ ซึ่งอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการทำงานของสมองถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือ ผู้ป่วยจะถึงแก่ความตาย หรืออวัยวะบางอย่าง เช่น สมอง อาจขาดเลือดตายได้ (ภาวะสมองตายเกิดภายหลัง 3-5 นาที) ซึ่งเป็นภาวะที่จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยและให้การรักษาในทันที ผู้ป่วยจะมีอาการหมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่มีชีพจร และไม่หายใจ หรือหายใจเฮือก การให้การรักษาขั้นพื้นฐานสามารถทำได้โดยใช้หลักการการนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพขั้นพื้นฐาน(basic life support)

การนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (basic life support) คือ การช่วยฟื้นชีวิตเพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะที่สำคัญได้เร็วที่สุด ซึ่งประกอบไปด้วย การตระหนักถึงภาวะฉุกเฉินและแจ้งทีมช่วยชีวิตให้มาถึงอย่างรวดเร็วที่สุด (early access) การเริ่มการกดหน้าอกในทันทีและมีคุณภาพ (early CPR) การเปิดทางเดินลมหายใจและช่วยหายใจ (Airway and Breathing) และการใช้เครื่องช็อกหัวใจไฟฟ้าให้เร็วที่สุด (early defibrillation)

ขั้นตอนการนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (basic life support) มีดังนี้

ประเมินสถานการณ์ความปลอดภัย เป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกก่อนเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วย เนื่องจากการเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยโดยไม่ตรวจสอบหรือประเมินสถานการณ์ก่อน อาจทำให้ผู้เข้าไปช่วยเหลือเกิดการบาดเจ็บได้ อาทิเช่น สถานการณ์เหตุความรุนแรงของผู้ชุมนุนมทางการเมืองต่าง ๆ ผู้เข้าไปช่วยเหลืออาจโดนลูกกระสุน หรือแก๊สน้ำตา เป็นต้น

ประเมินความรู้สึกตัวผู้ป่วย โดย  กระตุ้นผู้หมดสติ สังเกตการหายใจ และคลำชีพจร ไปพร้อม ๆ กัน

- การกระตุ้นผู้ป่วย โดยใช้มือตบหัวไหล่ 2 ข้าง พร้อมตะโกนเรียกชื่อ

- การประเมินการหายใจ โดยใช้ตาของผู้เข้าไปช่วยเหลือสังเกตว่ามีทรวงอกขยับหรือไม่ ใช้หูฟังเสียง การหายใจของผู้ป่วยว่ามีการหายใจหรือไม่ และใช้แก้มของผู้เข้าไปช่วยเหลือสัมผัสว่าผู้ป่วยมีไออุ่นจากลมหายใจหรือไม่ โดยใช้หลักการตาดู-หูฟัง-แก้มสัมผัส

- คลำชีพจร โดยในแต่ละช่วงอายุจะมีตำแหน่งของชีพจรที่คลำได้ชัดเจนต่างกัน ในเด็กอายุมากกว่า 1 ปี จนถึงวัยผู้ใหญ่ ให้คลำชีพจรที่ตำแหน่งคอ(carotid artery) ในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ให้คลำชีพจรที่ตำแหน่งขาหนีบ(femoral artery) หรือที่ข้อพับแขน(brachial artery) โดยคลำนาน 5-10 วินาที ใช้เวลาไม่เกิน 10 วินาที ในกรณีสอนประชาชนทั่วไปอาจข้ามขั้นตอนนี้ เนื่องจากเกิดความผิดพลาดในการคลำตำแหน่งชีพจรได้บ่อย กรณีที่จะเป็นปัญหาคือ ผู้ป่วยไม่มีชีพจร แต่ผู้ประเมินบอกมี ทำให้พลาดโอกาสในการเริ่มการกดหน้าอกตั้งแต่ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น

เรียกหาความช่วยเหลือโทร 1669

ปัจจุบันระบบการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทย จะมีเบอร์สายด่วนคือเบอร์ 1669 โทรได้ทั่วประเทศ เมื่อโทรในเขตพื้นที่จังหวัดใด จะติดศูนย์สั่งการ (Dispatch center) ในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ จะมีการประเมินและสั่งการให้หน่วยกู้ชีพในพื้นที่ที่ใกล้เคียงผู้ป่วยที่สุดออกปฏิบัติการ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครที่จะใช้เบอร์ 1669 หรือ 1646 ของศูนย์เอราวัณซึ่งรับหน้าที่เป็นศูนย์สั่งการ และประสานงานการแพทย์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานครทั้งหมด ในอนาคตผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีการวางแผนให้สามารถใช้เบอร์เดียวในการติดต่อกรณีเหตุฉุกเฉินทั้งหมด เพื่อลดความสับสน ในเขตพื้นที่จังหวัดอื่นๆนอกเขตกรุงเทพมหานคร เบอร์ 1669 จะต่อติดไปยังศูนย์สั่งการ (Dispatch center)ของแต่ละจังหวัด จังหวัดละหนึ่งแห่งอาจตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลจังหวัด หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในระดับอำเภอจะไม่มีศูนย์สั่งการ แต่จะมีหน่วยกู้ชีพระดับสูงอยู่ที่โรงพยาบาลอำเภอและรับคำสั่งจากศูนย์สั่งการของจังหวัด ส่วนในระดับตำบลจะรับผิดชอบโดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) มีทีมกู้ชีพระดับตำบลโดยส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร มีหน้าที่แจ้งเหตุศูนย์สั่งการ ให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และนำส่งผู้ป่วยที่ไม่ซับซ้อนไปโรงพยาบาล โดยอาจมีการประสานงานกับทีมกู้ชีพของโรงพยาบาลอำเภอเพื่อส่งต่อผู้ป่วย ณ จุดนัดพบ เพื่อช่วยลดระยะเวลาที่หน่วยกู้ชีพจะต้องไปตามหาผู้ป่วย

ผศ. พญ.วิจิตรา เลี้ยงสว่างวงศ์ 

ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล