108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ : โรคเป็นสาวก่อนวัย…ภัยที่ไม่ควรมองข้าม

2018-01-26 14:00:34

108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ : โรคเป็นสาวก่อนวัย…ภัยที่ไม่ควรมองข้าม

Advertisement

เมื่อก่อนก็ไม่เคยสังเกตว่าเด็กสมัยนี้โตเร็วหรือโตช้า จนตัวเองอยู่ในฐานะแม่ของลูกสาวที่กำลังจะเข้าสู่วัยสาวจึงเริ่มมีความกังวลเหมือนคุณแม่ทั่วไปว่าลูกจะเป็นสาวเร็ว หรือเกิดภาวะเป็นสาวก่อนวัย (precocious puberty) เพราะเด็กสมัยนี้ดูเหมือนจะโตเร็วกว่าคนรุ่นพ่อแม่

ซึ่งภาวะนี้เชื่อว่ากระทบทั้งร่างกายและจิตใจของลูกๆ เนื่องจากในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นเด็กจะสูงกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน แต่เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จะเป็นคนที่เตี้ยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะฮอร์โมนเพศที่ทำให้โตเร็วในวัยเด็ก จะเป็นผลให้กระดูกปิดเร็วกว่าเด็กในวัยเดียวกัน ส่งผลให้ระยะเวลาของการเจริญเติบโตสั้นกว่าคนทั่วไป ส่วนเรื่องจิตใจนั้นก็อาจจะเกิดการล้อเลียนในหมู่เพื่อนเพราะลูกๆจะมีหน้าอก เร็วกว่าเพื่อนๆ และอาจเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศได้ 


เหล่านี้จึงเป็นที่มาของการเริ่มค้นคว้าหาข้อมูล และผู้เขียนก็ได้พบกับบทความเรื่อง “โรคเป็นสาวก่อนวัย…ภัยที่ไม่ควรมองข้าม” ของ ศ.นพ.พัฒน์ มหาโชคเลิศวัฒนา หัวหน้าหน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาโบลิซึม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ ให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจว่าการเป็นหนุ่มสาวในคนปกติทั่วไปนั้น เกิดจากฮอร์โมนที่ไปกระตุ้นต่อมใต้สมองให้สร้างฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน (Gonadotropin) เพื่อกระตุ้นต่อมเพศให้สร้างฮอร์โมนเพศเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าปัจจัยใดที่ควบคุมการเข้าสู่ความเป็นหนุ่ม สาว หรือเป็นตัวกระตุ้นในการเริ่มสร้างฮอร์โมนเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการควบคุม ทั้งเรื่องของพันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูก รวมถึงภาวะโภชนาการที่ดี กล่าวคือ ในเด็กที่ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์มักจะเข้าสู่การเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็ว 

“ในทางการแพทย์ยังไม่รู้แน่ชัดว่ากลไกที่ชักนำสู่การเป็นหนุ่มสาวคืออะไร เพราะเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนมาก ไม่รู้ว่าสมองควบคุมยังไง อะไรเป็นตัวกำหนด รู้แต่ว่าสารเคมีในสมองเพิ่มขึ้น แม้แต่คนปกติในครอบครัวเดียวกันก็ยังเข้าสู่วัยหนุ่มสาวแตกต่างกัน ซึ่งในเด็กผู้หญิงประจำเดือนมักมาช่วงอายุ 11-15 ปี ถ้าอายุมากหรือน้อยกว่านี้เล็กน้อยก็ถือเป็นเรื่องธรรมชาติ ในรายที่ผิดปกติส่วนใหญ่มักตรวจไม่พบสาเหตุ แม้ว่าจะตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองก็ไม่พบความผิดปกติใดๆ” หมอพัฒน์ กล่าว

หมอพัฒน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การที่เด็กหญิงมีประจำเดือน เป็นสัญญาณว่าร่างกายเติบโตเต็มที่แล้ว แต่อย่าเข้าใจผิดว่าประจำเดือนเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กหยุดสูง เพราะเป็นเพียงสัญญาณบอกความพร้อมของร่างกายเท่านั้น ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองก็อย่าเพิ่งตระหนกจนเกินเหตุ



“มีข้อสังเกตง่ายๆว่า ถ้าเด็กมีประจำเดือนหลังอายุ 8 ขวบ ถือว่าไม่ผิดปกติ และอายุเฉลี่ยที่เริ่มมีหน้าอกควรจะเป็น 9–10 ขวบ ลูกบ้านไหนที่อยู่ในเกณฑ์นี้ พ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่จำเป็นต้องกังวลในเรื่องโตเร็ว ที่สำคัญคืออย่าปล่อยให้อ้วน ตั้งแต่ 3–4 ขวบ เพราะมีข้อมูลการติดตามผลต่อเนื่องแล้วพบว่า เด็กที่อ้วนจะเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็วกว่าปกติ 1–2 ปี นอกจากนี้ ภาวะเด็กโตเร็วนั้นเกิดขึ้นทั่วโลกมิใช่เฉพาะในไทย” หมอพัฒน์ อธิบาย

อย่างไรก็ตาม การที่เด็กรุ่นใหม่เป็นหนุ่มสาวเร็วขึ้นกว่าคนรุ่นก่อนนั้น หมอพัฒน์ บอกว่า เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของวิวัฒนาการของมนุษยชาติ เนื่องเพราะมนุษย์มีความสมบูรณ์ของร่างกาย สิ่งแวดล้อมและอาหารการกินเมื่อเทียบกับคนในอดีต อีกทั้งการที่เด็กโตวัยขึ้นก็ไม่ได้พบเฉพาะในประเทศไทย แต่ทั่วโลกก็มีแนวโน้มที่เด็กจะเป็นหนุ่มสาวเร็วขึ้น จึงถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก



“โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ เป็นโรคที่มีมานานแล้วและไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ แต่ระยะหลังๆ คนสนใจ เนื่องจากคนมีความรู้มากขึ้น การทำความเข้าใจให้ความรู้ประชาชนมีมากขึ้น ประจวบกับมียารักษาควบคุมได้ผลดี จึงดูเสมือนว่าพบโรคนี้มาก จริงๆ แล้วปัญหานี้ไม่ใช่สิ่งที่ต้องตื่นตระหนก หากพบว่าลูกหลานเจริญเติบโตเร็วกว่าปกติก็สามารถมาพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ ต่างๆได้” หมอพัฒน์ กล่าว



สำหรับวิธีการรักษาเด็กที่เป็นสาวก่อนวัยนั้น ต้องเริ่มจากการหาสาเหตุ ด้วยการตรวจร่างกายโดยประเมินการพัฒนาทางเพศ ประเมินการเจริญเติบโต พร้อมเอกซเรย์ภาพถ่ายกระดูก ตรวจวัดระดับฮอร์โมน วัดขนาดมดลูกและรังไข่ การรักษาอาจแตกต่างกันขึ้นกับสาเหตุ บางรายฉีดฮอร์โมน บางรายกินยา จุดประสงค์หลักเพื่อยุติการพัฒนา ชะลอตัว ผลที่ได้จะทำให้หน้าอกมีขนาดเล็กลง ประจำเดือนก็จะหยุดชั่วคราว ลักษณะคล้ายเด็กวัยเดียวกัน แล้วเมื่อถึงวัยที่เหมาะสมจึงหยุดการให้ยา

นอกจากนี้ หมอพัฒน์ ยังให้ความกระจ่างเกี่ยวกับคำถามที่ทั้งแพทย์ พ่อแม่ หรือแม้แต่สื่อมวลชน ที่พูดถึงไก่ว่ามีผลทำให้เด็กเป็นสาวก่อนวัยนั้น ในความเห็นส่วนตัวของคุณหมอ คิดว่าการที่เด็กเป็นสาวเร็วขึ้นไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับไก่ปนเปื้อนฮอร์โมน เพราะเชื่อว่าในวงกว้างไม่มีการใช้ฮอร์โมนในสัตว์ปีก โดยเฉพาะฟาร์มมาตรฐานใหญ่ๆ ไม่น่าจะใช้

“ที่บางคนบอกว่าไก่ปนเปื้อนฮอร์โมน เป็นข้อมูลที่ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์หรือมีผลงานวิจัยยืนยัน ส่วนสิ่งเร้าภายนอกจะส่งผลต่อจิตใจก็มีการพูดถึง แต่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ยาก ทั้งหมดทั้งสิ้นล้วนเป็นเรื่องที่พูดต่อๆ กันมา ไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัด” หมอพัฒน์ ย้ำ




ทั้งนี้ คุณหมอเคยสอบถามผู้ป่วยเด็กที่ดูแลอยู่เป็นจำนวนกว่า 100 คน ส่วนใหญ่บอกว่าเคยกินไก่ทั้งนั้น เด็กที่ไม่กินมีไม่กี่คน อย่างไรก็ตามก็ยังมีคำถามว่า แล้วต้องกินมากเท่าไหร่จึงจะเป็นโรค และทำไมพี่น้องกันคนหนึ่งเป็นแต่อีกคนหนึ่งไม่เป็น ที่สำคัญคือเมื่อถามเด็กปกติที่ไม่เป็นโรคเป็นสาวก่อนวัยส่วนใหญ่ก็กินไก่ เช่นเดียวกัน

“ในทางทฤษฎีแล้วเป็นไปได้ หากให้ฮอร์โมนเพศกับเด็กติดต่อกันระยะหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เคยพิสูจน์ตรวจพบอาหารที่มีการปนเปื้อนฮอร์โมน ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีก ไก่ เป็ด มีมาตรฐานการเลี้ยงดูที่ไม่ได้ใช้ฮอร์โมนเหมือนเมื่อ 30 ปีก่อน ทั้งอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น สั่งระงับการใช้ฮอร์โมนมานานมากแล้ว” หมอพัฒน์ กล่าว

ส่วนการที่จะลดความเสี่ยงกับภาวะการเป็นสาวก่อนวัยที่ง่ายที่สุด ก็คือพ่อแม่ต้องรู้จักควบคุมน้ำหนักของลูกๆให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน เน้นการจัดโภชนาการที่เหมาะสม และสนับสนุนให้ลูกออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากลูกมีน้ำหนักเกิน ก็ต้องรีบแก้ไขตั้งแต่ลูกยังเล็ก ไม่ใช่รอให้โตก่อนแล้วค่อยลดน้ำหนัก



ดัง นั้นทุกปัญหาที่จะเกิดกับลูกนั้น พ่อแม่คือคนที่จะสามารถป้องกันและแก้ไขได้ทั้งสิ้น เพียงแค่อย่าปล่อยให้ลูกอ้วนจนเกินไปเท่านั้น…จากนี้ไปคงถึงเวลาให้ลูกสาว เข้าคอสท์ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์ตามวัยแล้ว


ศ.นพ.พัฒน์ มหาโชคเลิศวัฒนา
หัวหน้าหน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาโบลิซึม
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี