"อาการหลงลืมทั่วไป-ภาวะสมองเสื่อม" แยกอย่างไร

2022-11-03 18:00:36

"อาการหลงลืมทั่วไป-ภาวะสมองเสื่อม" แยกอย่างไร

Advertisement

"อาการหลงลืมทั่วไป-ภาวะสมองเสื่อม" แยกอย่างไร

เชื่อว่าทุกคนเคยเป็นอย่างแน่นอนกับอาการหลงลืมในบางเรื่อง ซึ่งบางอาการเป็นเรื่องปกติ แต่บางอาการก็อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะโรคสมองเสื่อม ที่เชื่อว่าหลายๆ คนยังสงสัยอยู่ว่าจะแยกออกจากกันอย่างไร วันนี้เราก็มีวิธีการแยกแยะมาฝาก เพื่อสังเกตตัวเองและคนรอบข้างถึงอาการหลงลืมปกติและภาวะสมองเสื่อม

ก่อนอื่นมาดูเรื่องราวเกี่ยวกับหลักการทำงานของสมองในเรื่องของการจดจำกันก่อน โดยทั่วไปเวลาที่เราจะจำอะไรสักอย่างนั้น สมองจะมีการบันทึกความจำ จากนั้นข้อมูลที่เราต้องการจำจะถูกจัดเก็บตามระบบ เมื่อถึงเวลาที่ต้องการใช้งานข้อมูลนั้น ก็จะมีการเรียกออกมาใช้เป็นลำดับ

แต่ในบางกรณีที่เราพบบ่อยในชีวิตประจำวันกับการหลงลืม ส่วนมากก็จะเป็นการเดินไปหยิบอะไรสักอย่าง แต่เมื่อถึงที่แล้วกลับนึกไม่ออกว่าจะหยิบอะไร นั่นเองที่เรียกว่าอาการหลงลืมทั่ว ๆ ไป เกิดจากไม่ได้มีการบันทึกความจำตั้งแต่แรก เมื่อถึงเวลาที่ต้องการเรียกข้อมูลออกมาใช้จึงทำไม่สำเร็จ เพราะจิตใจไม่ได้จดจ่ออยู่ตรงนั้น อาจเป็นเพราะทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน หรือสาเหตุอื่น ๆ ซึ่งก็เป็นอาการหลงลืมทั่วไป ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติอะไร

กรณีตัวอย่างสำหรับการแยกแยะระหว่างอาการหลงลืมทั่วไปกับสัญญาณเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อม

อย่างเช่นหญิงคนหนึ่งแขวนกุญแจรถไว้ที่ผนังบ้าน แต่เมื่อถึงเวลาจะใช้กลับไปหาในกระเป๋า กรณีนี้สามารถเป็นไปได้ทั้งสองอย่างทั้งอาการหลงลืมทั่วไปและภาวะสมองเสื่อมเริ่มต้น โดยต้องรู้ว่าก่อนหน้านี้ผู้หญิงคนนี้มักจะเอากุญแจรถเก็บไว้ที่ไหนเป็นประจำ ถ้าหากปกติเธอมักจะเก็บกุญแจรถไว้ในกระเป๋า ซึ่งเป็นที่ประจำของเธอ แต่บังเอิญครั้งนี้ไปแขวนไว้บนฝาผนังโดยไม่ได้ตั้งใจ อาจเป็นเพราะความรีบร้อนหรืออื่น ๆ ก็เป็นไปได้ว่าสมองอาจไม่ได้บันทึกความจำไว้ตั้งแต่ตอนนั้น เมื่อถึงเวลาจะใช้จึงไปหาในที่เดิมที่เคยเก็บเป็นประจำตามความเคยชิน แบบนี้จัดเป็นอาการหลงลืมแบบทั่วไป ไม่ใช่ความผิดปกติ

ในทางกลับกันถ้าหากปกติเธอมักจะแขวนกุญแจรถไว้บนฝาผนัง ซึ่งเป็นที่ประจำของเธอ ไม่เคยเก็บไว้ในกระเป๋าเลย แต่ครั้งนี้เธอกลับไปหาในกระเป๋าซึ่งผิดวิสัย แบบนี้อาจเป็นไปได้ว่าอาการหลงลืมดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อมได้

ดังนั้นการจะรู้ได้ว่าคนไหนป่วยหรือไม่อย่างไร จะต้องมีการเอาไปเปรียบเทียบกับของเดิมของคนๆ นั้น ต้องรู้ว่าเดิมทีเขาทำอะไร แบบไหน อย่างไร จากนั้นเอามาเปรียบเทียบกัน จึงจะสามารถประเมินอาการได้ว่าอาการนั้นปกติหรือเป็นอาการป่วย และคนที่จะรู้เรื่องราวเหล่านี้ได้ดีที่สุดก็คือคนใกล้ชิด ที่ควรดูแลเอาใจใส่และคอยสังเกตกันและกันอยู่เสมอ

การสังเกตอาการหลงลืมระหว่างปกติและผิดปกติ

ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่ลืมว่าเป็นเหตุการณ์ในช่วงเวลาสั้น ๆ หรือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลายาวๆ หากเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เป็นไปได้ว่าการลืมนั้นเกิดจากการไม่มีสมาธิต่อสิ่งที่ทำอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าหากเหตุการณ์นั้นเป็นช่วงเวลายาวๆ มีการหลงลืมไปทั้งช่วง เช่น กรณีหนึ่งของผู้สูงอายุที่เคยถอดแหวนตัวเองให้หลานสะใภ้ในวันแต่งงานของหลานชาย เพื่อรับขวัญหลานสะใภ้ แต่พอมาเจอกันภายหลังกลับถามหลานสะใภ้ว่า “แหวนฉันไปอยู่กับเธอได้ยังไง” นี่เป็นการลืมเหตุการณ์ไปทั้งช่วง ที่แสดงถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น และอาจเป็นอาการแรกเริ่มของภาวะสมองเสื่อม

แต่ถ้าหากเป็นเหตุการณ์ประมาณว่าล็อครถแล้วลืมว่าล็อคหรือยังไม่ได้ล็อคจนต้องเดินกลับไปดูใหม่ แบบนี้ถือเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ตอนทำอาจไม่ได้มีสมาธิจดจ่ออยู่นั่นเอง สมองจึงไม่ได้ทำการบันทึกความจำเอาไว้ เป็นอาการหลงลืมที่พบได้ทั่วไป และเป็นเรื่องปกติ

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมมีหลายอย่าง

คนไข้บางรายอาจมีเลือดไปเลี้ยงสมองได้ไม่ดี หรือในคนไข้บางรายมีภาวะความดันต่ำ สมองจึงไม่ได้มีการบันทึกความจำลงไป มีทั้งรักษาได้และรักษาไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ทำให้เกิด แต่สำหรับอาการหลงลืมทั่วไป สามารถรักษาได้แน่นอนและสามารถรักษาได้ด้วยตนเอง เพียงแค่มีสติกับสิ่งที่ทำอยู่ตลอด มีสมาธิ ใส่ใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า สมองก็จะบันทึกความจำลงไป อย่างเช่นการล็อครถก็ให้ตระหนักเสมอว่าตอนนี้กำลังล็อครถอยู่ อาจต้องลดความเร็วในการกระทำนั้นลงด้วย เพราะการทำอะไรที่รวดเร็วตามความเคยชิน ก็เป็นเหตุให้สมองไม่บันทึกความจำเช่นกัน

ผศ.พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน ภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล