แพทย์ชี้ “โรคสะเก็ดเงิน”ไม่ติดต่ออย่ารังเกียจผู้ป่วย

2018-01-18 11:35:19

แพทย์ชี้ “โรคสะเก็ดเงิน”ไม่ติดต่ออย่ารังเกียจผู้ป่วย

Advertisement

แพทย์แจงโรคสะเก็ดเงินไม่ติดต่อ สังคมอย่าควรรังเกียจ แต่ควรให้กำลังใจผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการที่โลกโซเชียลได้แชร์กรณีสาวป่วยโรคสะเก็ดเงิน จนบุคคลรอบข้างรังเกียจคิดว่าเป็นโรคร้าย ส่งผลกระทบต่อภาวะจิตใจของผู้ป่วยเป็นอย่างมากนั้น ขอชี้แจงว่าโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังที่ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม พบได้ทุกเพศ ทุกวัย เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน ทำให้การแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วกว่าปกติ การเจริญเติบโตและพัฒนาการของผิวหนังจึงไม่สมบูรณ์ ถึงแม้ว่าจะเป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายขาดแต่มีช่วงระยะเวลาที่อาการของโรคจะสงบ ทั้งนี้บุคคลในครอบครัว เพื่อนร่วมงานและสังคม ไม่ควรรังเกียจ แต่ควรให้กำลังใจผู้ป่วยให้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนังเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคผิวหนังระดับประเทศ สามารถให้การรักษาและดูแลผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ผู้ป่วยยังสามารถรับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์และกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ โดยใช้ได้ทุกสิทธิการรักษา


ด้าน พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า อาการโรคสะเก็ดเงินที่พบคือ มีผื่นแดงหนาขอบเขตชัดเจน มีสะเก็ดเงินปกคลุม เมื่อขูดลอกสะเก็ดออกจะพบจุดเลือดเล็กๆใต้ผิวหนัง มักเป็นบริเวณข้อศอก หัวเข่า หน้าแข้ง ผื่นอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่กระจายทั่วร่างกาย ศีรษะ จะมีผื่นแดงลอกเป็นขุยขาวคล้ายรังแค ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบ เช่น บาดแผลบนผิวหนัง ถูกของมีคมทำให้เป็นแผลหรือเพียงรอยถลอกเล็กน้อย อาจทำให้เกิดผื่นของโรคที่บริเวณนั้น เนื่องจากโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายขาด การรักษาต้องวางแผนระยะยาวและรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกำเริบของโรค ถ้าเป็นผื่นไม่มากรักษาโดยใช้ยาทา หากไม่ดีขึ้นอาจใช้ร่วมกับการฉายแสงอัลตราไวโอเลต ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงอาจให้ยารับประทานร่วมด้วย ซึ่งยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงไม่ควรซื้อมาทาหรือรับประทานเอง ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ทั้งนี้ผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินควรดูแลตนเอง ดังนี้ผู้ป่วยต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยนอนหลับพักผ่อนวันละ 6-8 ชั่วโมง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายประจำ หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดการระคายเคือง ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ไม่เครียด จะสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดี