"ฉลาดซื้อ" เผยผลทดสอบกาแฟทุกตัวอย่างปนเปื้อน "สารอะคริลาไมด์"

2022-09-07 14:44:17

"ฉลาดซื้อ" เผยผลทดสอบกาแฟทุกตัวอย่างปนเปื้อน "สารอะคริลาไมด์"

Advertisement

"ฉลาดซื้อ" เผยผลทดสอบการปนเปื้อน "สารอะคริลาไมด์"  ในกาแฟ พบปนเปื้อนในทุกตัวอย่าง ของกาแฟทุกประเภท

เมื่อวันที่ 7 ก.ย.65 นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมกันดำเนินการทดสอบการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ ทั้งประเภทคั่วและสำเร็จรูป รวมเก็บตัวอย่างทั้งหมด 27 ตัวอย่าง แบ่งเป็นชนิดกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง กาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่าง ผลการทดสอบกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง พบสารอะคริลาไมด์ในทุกตัวอย่าง มีปริมาณระหว่าง 135.56- 372.62 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ผลทดสอบกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่าง พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่าง และมี 2 ตัวอย่าง พบอะคริลาไมด์ปริมาณสูงกว่า เกณฑ์ของสหภาพยุโรป

น.ส.ทัศนีย์ แน่นอุดร รอง ผอ.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า การศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่า สารอะคริลาไมด์เป็นสารกลุ่มที่ มีผลเสียต่อสุขภาพหลายประการ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Consumer Council Hongkong (สภาผู้บริโภคฮ่องกง) ได้รายงานผลทดสอบสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ เพื่อเป็นการสื่อสารความเสี่ยงจากการดื่มกาแฟที่วางจำหน่ายในฮ่องกง ซึ่งเป็นการเฝ้าระวังที่จำเป็นในยุคสมัยนี้ เนื่องจากมีการบริโภคกาแฟกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นิตยสารฉลาดซื้อและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) มีภารกิจในการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภค สื่อสารความเสี่ยงและแจ้งเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจมีผลกระทบต่อผู้บริโภค จึงได้รับการสนับสนุนจากสภาองค์กรของผู้บริโภคให้ทำการสำรวจปริมาณสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ ทั้งประเภทกาแฟคั่วและกาแฟสำเร็จรูป

การเก็บตัวอย่างกาแฟ แบ่งเป็นชนิดกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง และกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่างในระหว่างเดือน ก.พ.-พ.ค.65 จากร้านค้า ห้างค้าปลีก และร้านค้าออนไลน์ โดยเก็บกาแฟคั่วทดสอบ 12 ตัวอย่าง ตามเกณฑ์มาตรฐานของสหภาพยุโรปนั้นได้กำหนดให้มีสารอะคริลาไมด์ปนเปื้อนไม่เกิน 400 ไมโครกรัม/กิโลกรัมสำหรับกาแฟคั่วและไม่เกิน 850 ไมโครกรัม/กิโลกรัมสำหรับกาแฟผงสำเร็จรูป ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ พบว่าที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำฐานข้อมูลอาหารไทยที่มีการตรวจพบสารอะคริลาไมด์ในอาหารซึ่งพบว่า พริกป่นมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดและรองลงมาได้แก่ ขนมถุงที่ทำจากแป้ง มันฝรั่ง เฟรนซ์ฟรายด์ กาแฟสำเร็จรูป เผือกฉาบ อย่างไรก็ดีปริมาณที่พบนั้นถือว่า เป็นความเสี่ยงในระดับต่ำกว่าระดับที่จะก่อพิษต่อร่างกาย

ผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารอะคริลาไมด์ในกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่างคือ พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่าง โดยผลการวิเคราะห์พบปริมาณที่อยู่ระหว่าง 135.56-372.62 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ส่วนในกลุ่มกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่างนั้น พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่างเช่นกัน โดยพบปริมาณสารอะคริลาไมด์ในทุกตัวอย่างกาแฟที่มีปริมาณระหว่าง 298.79–954.47 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ที่น่าสังเกตคือ มี 2 ตัวอย่างที่พบสารอะคริลาไมด์ในปริมาณสูงกว่าเกณฑ์ของสหภาพยุโรปคือ   851.76 ไมโครกรัม/กิโลกรัม และ 954.47 ไมโครกรัม/กิโลกรัม

ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวเสริมว่า ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารอะคริลาไมด์ปนเปื้อนในระดับที่วิเคราะห์พบเสมอนั้น ได้แก่ มันฝรั่งทอด แครกเกอร์ บิสกิต และการศึกษาในระยะหลังยังพบสารอะคริลาไมด์ในมะกอกดำ ลูกพลัมแห้ง ลูกแพร์แห้ง กาแฟคั่ว อีกด้วย ในแง่อันตรายต่อผู้บริโภคนั้นสารอะคริลาไมด์ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งในหนูทดลอง มีการศึกษาพบว่าในหนูเพศผู้นั้นเกิดเนื้องอกที่อวัยวะในระบบสืบพันธุ์และต่อมไทรอยด์ ในขณะที่ในหนูเพศเมียนั้นเกิดเนื้องอกที่เต้านมและเนื้อในต่อมไทรอยด์ นอกจากนี้การที่มีรายงานการพบสารอะคริลาไมด์ในอาหารหลายชนิดและมีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับปริมาณการสัมผัสของมนุษย์ การดูดซึมในมนุษย์ และความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ในสัตว์ทดลอง ทาง US.NTP Center for the Evaluation of Risks to Human Reproduction ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับสารเคมีที่มีผลต่อระบบสืบพันธุ์มนุษย์จึงได้ผลิตเอกสารเรื่อง NTP-CERHR Monograph on the Potential Human Reproductive and Developmental Effects of Acrylamide (NIH Publication No. 05–4472 ของเดือน February 2005) เกี่ยวกับผลของสารอะคริลาไมด์ในการก่อความเสี่ยงต่อระบบสืบพันธุ์และการพัฒนาของตัวอ่อนในครรภ์มารดา สำหรับปริมาณสารอะคริลาไมด์ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ผศ. นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ แพทย์ประจำสาขาวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยาคลินิก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวไว้ในบทความเรื่อง"ดื่มกาแฟเสี่ยงเป็นมะเร็งจริงหรือไม่ว่า ร่างกายควรได้รับสารอะคริลาไมด์ไม่เกิน 2.6 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากได้รับมากกว่าที่กำหนดไว้จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง

น.ส.ทัศนีย์กล่าวเสริมว่า การดื่มกาแฟในปริมาณปกติ โอกาสที่ร่างกายจะได้รับสารอะคริลาไมด์จนเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพนั้นค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตามการได้รับสารอะคริลาไมด์ปริมาณสูงจากอาหารหลายชนิดในแต่ละวันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานของผู้ที่มีระบบกำจัดสารพิษไม่สมบูรณ์ย่อมเป็นการเพิ่มความเสี่ยงจากอันตรายที่มีการสะสมในร่างกาย จึงควรลด ละ เลี่ยงอาหารที่ผ่านความร้อนในการอบ ปิ้ง ทอด หรือใช้อุณหภูมิสูงเกิน 120 oC เพราะเป็นอาหารลักษณะนี้มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารอะคริลาไมด์

นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคในฐานะตัวแทนของผู้บริโภคมีอำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค สามารถเปิดเผยชื่อสินค้าและชื่อผู้ประกอบธุรกิจเพื่อเผยแพร่แจ้งเตือนภัย เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจมีผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งกาแฟก็เป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยม แต่สารปนเปื้อนต่างๆที่อยู่ในกาแฟนั้นผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบได้โดยง่าย ดังนั้นผลการทดสอบครั้งนี้จะช่วยทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการช่วยตัดสินใจเลือกบริโภคกาแฟในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้เกิดผลดีต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในระยะยาว ตลอดจนสร้างความตื่นตัวแก่ผู้ประกอบการผลิตกาแฟที่จะได้ทบทวนกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคมากขึ้น ดังที่สภาผู้บริโภคฮ่องกงเปิดเผยผลวิเคราะห์สารอะคริลาไมด์ในกาแฟเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า การไม่พบอะคริลาไมด์ในกาแฟ 2 ตัวอย่าง จากการทดสอบผลิตภัณฑ์กาแฟ 49 ตัวอย่าง สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ผลิตสามารถลดโอกาสในการเกิดสารอะคริลาไมด์ได้ โดยหลังจากนี้สภาองค์กรของผู้บริโภคจะนำผลทดสอบครั้งนี้เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางหรือมาตรฐานการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟของประเทศไทยต่อไป