โรคติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงที่พบบ่อย

2022-09-02 10:06:32

โรคติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงที่พบบ่อย

Advertisement

โรคติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงที่พบบ่อย

ปัจจุบันมีการนำสัตว์หลากหลายชนิดมาเลี้ยงในบ้านมากขึ้น แต่รู้ไหมว่าสัตว์เลี้ยงเหล่านี้อาจนำโรคมาสู่คนได้ด้วย เพราะเชื้อโรคบางชนิดแม้จะไม่ทำให้สัตว์เป็นโรค แต่เมื่อเชื้อชนิดนั้นมาติดต่อสู่คนก็จะทำให้เกิดโรคร้ายแรงได้

1. โรคพิษสุนัขบ้า

ถือเป็นโรคร้ายแรงมากเพราะมีอัตราการเสียชีวิตสูง โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส rabies เข้าสู่ร่างกายเมื่อถูกสัตว์กัด หรือถูกสัตว์เลียบริเวณเยื่อเมือกหรือบริเวณแผลเปิด ทำให้มีอาการกลืนไม่ได้ มีน้ำลายไหลมาก กลัวแสง กระสับกระส่าย มีพฤติกรรมก้าวร้าว แล้วซึมลงในที่สุด โดยเชื้อไวรัสนี้ไม่ได้พบเพียงแค่สุนัขเท่านั้น แต่สามารถพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ทั้ง สุนัข แมว หนู ค้างคาว

2. โรคท้องเสียจากเชื้อแบคทีเรีย

เชื้อแบคทีเรียที่พบได้บ่อย เช่น เชื้อ campylobacter เชื้อ salmonella เกิดจากการไปสัมผัสมูลของสุนัขและแมวแล้วไม่ได้ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบอาหารเข้าปาก ทำให้มีอาการไข้ปวดท้อง ถ่ายเหลว รวมถึง อาจถ่ายเป็นมูกเลือด แม้คนปกติจะสามารถหายได้เอง แต่ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือในเด็กเล็ก อาจมีอาการรุนแรงและทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดได้

3. โรคทอกโซพลาสโมซิส

โดยปกติจะพบเชื้อนี้ในอุจจาระของแมว หากมีการสัมผัสมูลของแมวแล้วไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบอาหารเข้าปาก หรือเชื้อจากมูลของแมวไปปนเปื้อนในดินและในผักที่รับประทาน อาจทำให้ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำมีอาการปอดอักเสบ ไข้ต่อมน้ำเหลืองที่คอโตได้ หรือหากติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์ส่งผลให้แท้ง มีความพิการแต่กำเนิดได้ หรือบางคนที่ติดเชื้อแล้วไม่แสดงอาการตอนแรกเกิด แต่มามีอาการในวัยเด็ก เช่น มีอาการชัก พัฒนาการช้า ตาบอด เป็นต้น

4. โรคซิตาโคซิส

โรคนี้สามารถติดต่อไปจากนกที่เลี้ยง เช่น นกแก้ว นกพาราคีท เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มที่เรียกว่า คลามัยเดีย ในมูลของนกหรือขนของนก แล้วคนหายใจเอาเชื้อนี้เข้าไป โดยอาการจะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ไอแห้ง ๆ เจ็บหน้าอก มีอาการของปอดอักเสบ เป็นต้น

5. โรคฉี่หนูหรือเลแโตสไปโรสิส

โรคนี้เกิดจากการสัมผัสปัสสาวะของหนู เช่น ไปย่ำน้ำที่มีการปนเปื้อนของปัสสาวะหนู ทำให้มีอาการ ไข้สูง ปวดน่อง ตาแดง หรืออาจรุนแรงจนถึงขั้นมีภาวะไตวาย ตับอักเสบ และไอเป็นเลือด ได้เลย

จะเห็นได้ว่าโรคติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงนั้น ส่วนใหญ่มักเกิดจากการสัมผัสกับสัตว์หรือมูลสัตว์ที่ติดเชื้อ ดังนั้น นอกจากการพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์เป็นระยะแล้ว การล้างมือให้สะอาดหลังสัมผัสสัตว์ รวมถึงการไปพบแพทย์เมื่อถูกสัตว์กัดหรือทำให้เกิดแผลมีเลือดออก ก็เป็นการป้องกันได้เช่นกัน

รศ. ดร. นพ.นพพร อภิวัฒนากุล

สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล